บทสัมภาษณ์
 


เดิมทีท่านไม่ใช่คริสตัง   หลังจากเข้าโรงเรียนคาทอลิกแล้วชีวิตเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปมากจนถึงขั้นเข้าบ้านเณรเล่าเรียนเขียนอ่าน ช่ำชองภาษาอังกฤษ อิตาเลียน เป็นนักแปลผู้ใช้นามปากกาว่า 'ธ. ลูกมารี' แปลหนังสือคำสอน ฯลฯ ฝึกฝนอยู่จนเหลืออีกไม่กี่ปี จะได้เป็นพระสงฆ์ แต่แล้วด้วยปัญหาสุขภาพ ทำให้เส้นทางสงฆ์ ต้องหยุดลงกลางคัน ท่านดำเนินชีวิตอย่างฆราวาส เข้าเรียนต่อ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยความที่เรียนดี เรียนเก่ง จึงได้รับการทาบทามให้เป็นอาจารย์วิชาชีพที่ไม่เคยคาดว่าจะเป็นมาก่อน จนที่สุดหันมารักและชอบ ไต่เต้าจากคณบดีจนปัจจุบันเป็น อธิการบดีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนี่คือเรื่องราวบางส่วน เสี้ยวของคริสตชนท่านหนึ่งผู้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขกับ ปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ว่า 'แก้วของผมเล็ก ผมคิดว่าผม ประสบความสำเร็จแล้วล่ะ' อุดมศานต์ขอนำท่านมารู้จักกับชีวิต และการงานของท่านผู้นี้ รวมถึงอนาคตของสถาบันอุดมศึกษา ที่ท่านกุมบังเหียนอยู่ด้วย

อุดมศานต์ : ไม่ทราบว่าครอบครัวท่านดั้งเดิมเป็นคาทอลิกหรือ เปล่าครับ?
ดร.ธนู : ไม่ใช่ครับ คุณพ่อเป็นพุทธ ท่านเกิดที่เมืองชลส่วนคุณปู่ ก็ส่งลูกชาย 3 คนเข้ากรุงเทพฯ เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ส่วน ลูกชายอีกคนหนึ่งเรียนที่อำนวยศิลป์ สามคนที่เรียนอัสสัมฯ พอเรียนไปก็ซาบซึ้งกลับใจมานับถือศาสนาคาทอลิก ส่วน ลูกชายที่เรียนอำนวยศิลป์ก็ยังนับถือศาสนาพุทธอยู่เหมือนเดิม ส่วนแม่ผมนี่จริงๆแล้วแม่ผมตอนที่เกิดพ่อแม่ก็เป็นพุทธเหมือนกัน ทีนี้เพื่อนของคุณยายไม่มีลูกเขาอยากมีลูกมากเขาขอยายของผม เขาบอกว่าถ้าเกิดขอเลยได้ไหม แล้วเขาก็สนิทกันมากเลยยกให้ เพราะฉะนั้นพอแม่ผมเกิดปุ๊บ เพื่อนของยายก็เอารถมารับเลย เอาไปเลี้ยงแล้วเขาเป็นครอบครัวคาทอลิก เพราะฉะนั้นแม่ก็ เลยกลายเป็นคาทอลิกอีก สรุปแล้วทั้งพ่อและแม่เป็นคาทอลิก โดยบังเอิญ หรือว่าด้วยจงใจก็ไม่ทราบน่ะ ลูกเกิดมาทุกคนก็ให้เป็นคาทอลิกหมด
อุดมศานต์ : หลังจากที่ท่านมาจากชลบุรีแล้ว ก็มาปักหลักอยู่ที่ กรุงเทพฯ เลยใช่ไหมครับ?
ดร.ธนู : ใช่ครับ ก็ที่กรุงเทพฯ เลย แต่ก็กลับไปเยี่ยมย่าปู่ เกือบทุกอาทิตย์ เกือบทุกเดือน ไปบ่อย แค่เมืองชลฯ แค่นี้เอง "กุลชล" ก็มาจากเมืองชลนั่นแหละ
อุดมศานต์
: ชีวิตในวัยเด็กของอาจารย์เป็นยังไงบ้างครับ โลดโผนไหม?
ดร.ธนู : เออ..มันก็ไม่โลดโผนเท่าไรหรอกน่ะ คือตอนเด็กๆ บ้านผมอยู่ตรงข้ามโรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ ตรงเทเรซานิคม ซึ่งใน สมัยก่อนเป็นที่ของมิสซัง แล้วพวกคาทอลิกก็อยู่ในละแวกนั้นหมด คุณพ่อก็สนิทกับมาแมร์หลุยส์ เพราะฉะนั้นตอนเด็กๆ ผมเรียนที่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ เรียนอยู่ 4 ปี ก็รู้สึกจะเป็นผู้ชายคนเดียว ตอนเช้าคุณพ่อก็ให้ขี่คอมาโรงเรียน เรียนชั้นอนุบาล หรือเขา เรียกว่าชั้นมูลจนถึง ป.3 จำได้ว่าปีแรกมีผู้ชายเดียว แล้วต่อมาก็ มีอีกคนหนึ่งหรือสองคน แล้วพอจะขึ้น ป.4 เขาก็ไม่ให้อยู่แล้ว เด็กโตแล้วก็ต้องออก แล้วก็ไปเข้าที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ อยู่แค่ปีเดียว แล้วก็มาเข้าอัสสัมใหญ่ (อัสสัมชัญ บางรัก) ตอนที่อยู่ที่บ้านส่วนมากจะไปวัดของซาเลเซียน อยู่ตรง ซ.ศาลาแดง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหอพักเอาซีลีอุม ก็มีวัดน้อย แล้วก็ไปวัดที่นั่น เป็นประจำ ก็ไปเจอคุณพ่อมารีโอ รูเซ็คคู เคยเป็นเจ้าคณะแขวง ของชาเลเชียน ตอนนี้ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว ท่านเคยประจำที่ วัดน้อยนั้น ก็เห็นตัวอย่างแล้วก็เห็นชีวิตที่ดี ก็ชอบ ตอนนั้นเรายัง เด็กอายุประมาณ 10 ปี ก็มีลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งเขาก็มาชวน ให้ไปบวช พูดจริงๆ ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร แต่เนื่องจากว่าพ่อผม เป็นคนศรัทธามาก พอรู้ว่ามีแนวโน้มก็สนับสนุน พ่อบอกเออดีนะ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็พยายามนะ ลองดู ในที่สุดก็เลยไปอยู่ที่ บ้านเณรที่หัวหินตั้งแต่อายุ 10 ปี สรุปแล้วเรียนที่อัสสัมฯ แค่ ปีเดียว พรีแพร์หนึ่ง ก็เท่ากับ ม.1 สมัยก่อน แล้วไปเรียนต่อ ทางโน้นก็ ม.2 ก็เรียนที่โรงเรียนหัวหินวิทยาลัย เป็นบ้านเณร ของพวกชาเลเซียน
อุดมศานต์
: ชีวิตในบ้านเณรเป็นอย่างไรบ้างครับ?
ดร.ธนู: ชอบ คืออยู่ที่นั้นตั้งแต่อายุ 11 ปี ก็เรียนภาษาลาติน แล้วก็ภาษาอิตาเลียน เพราะว่าทางโน้นเป็นพวกอิตาเลียน ก็ เรียนได้ดี เออ...จำได้ตอนอยู่ประมาณ ม.5 - ม.6 แปลหนังสือเยอะ แปลจากภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาไทย กองหน้าร่าเริงสมัยก่อนน่ะ เมื่อก่อนใช้ชื่อ "ธ.ลูกมารี" เป็น นามปากกา ธ. คือ ธนู ครับ ก็เขียนหนังสือ แปลหนังสือหลาย อย่าง พ่อบอสโกยิ้ม, ยอดอัศวิน นี่นะ ตั้งแต่สมัยเด็กๆน่ะ แล้วก็ยังมีหนังสืออเล็กซานเดรียนา,หนทาง สวรรค์,แล้วก็ของกองหน้าร่าเริง หนังสือพวกนี้สมัยก่อนใช้เยอะ ส่วนมากจะแปลจากภาษาอิตาเลียนทั้งนั้น ยังมีอีกเยอะจำ ไม่ค่อยได้แล้ว แล้วก็ยังมีบทความ ตอนนั้นก็อายุประมาณสัก 15-16-17 ปี
อุดมศานต์
: ยังเป็นเณรอยู่ใช่ไหมครับ?
ดร.ธนู
: ยังเป็นเณรอยู่ครับ ก็เขียนหนังสือลงกองหน้าร่าเริง แฟนผมเขาอยู่ที่มาแตร์ฯน่ะ เขารับเป็นประจำ แต่เขาไม่รู้ว่า อ้อ! ตาคนนี้เองเหรอที่เคยอ่านติดตามมานานตอนหลังก็ค่อยมารู้จักกัน อยู่บ้านเณรแล้วก็เรียนปรัชญาเข้าโนวิส โนวิสนี่ก็มีคนไทย ตอนนั้นมี 4 คนมั๊ง มีคุณพ่ออนันต์ เต้าลิ้ม เสียชีวิตไปแล้ว เพราะประสบอุบัติเหตุ มีคุณพ่อสนอง ช้อนทอง นี่รุ่นเดียวกัน เขาอยู่ที่ทางใต้อายุมากแล้ว พวกฝรั่งที่เข้ามาเข้าโนวิสด้วยกัน ก็มีหลายคน มีคุณพ่อตีโต เปดรอน และคุณพ่อมาริโอ ชาลา และคุณพ่ออูโก ซันนา แต่เป็นรุ่นพี่ 1 ปี แล้วก็มีคุณพ่อเปเลกรีนี คุณพ่อเซซี (เสียชีวิตไปแล้ว) มีสัก 5 - 6 คน ส่วนคุณพ่อประธาน คุณพ่อบรรจง รุ่นน้องหลายปี
อุดมศานต์
: ครับ การอบรมของบ้านเณรสมัยนั้นเคร่งมากไหมครับ?
ดร.ธนู
: เคร่งมาก
อุดมศานต์
: ขนาดไหนครับ ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย
ดร.ธนู
: คือ ตื่นขึ้นมานี่ จะห้ามพูด ไปล้างหน้าล้างตาทุกคนเข้าแถวจะต้องถือสมุดโน๊ต ท่องศัพท์ภาษาลาติน จะมีการบ้าน เดิน เข้าแถวไป เด็กอายุ 10-11 ปี เนี่ยต้องท่องแล้ว ท่องไปเดินไป ล้างหน้าเสร็จแล้วก็กลับมาท่องใหม่ในแถว มาแต่งตัวเสร็จแล้ว เข้าวัด เข้าวัดก็ยังพูดไม่ได้ ออกจากวัด เข้าห้องเรียนพิเศษ กว่าจะพูดได้ก็ต้องถึงตอนกินข้าวเช้า แล้วก็ไปทำความสะอาด ต่างคน ต่างมีหน้าที่ คนนี้ทำความสะอาดห้องนอน คนนั้นทำส้วม คนนี้ ทำอะไรก็ซักครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วก็ไปเรียน ก็ไปเรียนรวมกับ นักเรียนนอก แต่พวกเณรเนี่ยห้ามติดต่อกับนักเรียนนอก เพราะ สมัยก่อนนั้นเคร่งมาก เพราะฉะนั้น พวกเณรห้องหนึ่งก็จะมี 4-6 คนนักเรียนนอกอีก 20 คนอะไรอย่างนี้ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ให้พูด จะแบ่งกลุ่มกัน แล้วก็หนังก็ไม่ได้ดู ภาพยนตร์มีปีละ 1 ครั้ง ใน โอกาสฉลองสำคัญได้ดูแค่ 1 เรื่องต่อปีโดยเฉลี่ย แล้วก็เซ็นเซอร์ เรียบร้อยทุกอย่างนะ (หัวเราะ) หนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้อ่านหรอก ไม่เคยอ่าน ตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะฉะนั้นมันก็มีสมาธิใน การเรียนมาก แล้วหลังเลิกเรียนก็มาเรียนคำสอนเรียนภาษาลาติน หัดขับร้อง หัดเล่นดนตรี เล่นกีฬา ก็ตลอดวันจนถึงดึก เพราะ ฉะนั้นชีวิตก็อยู่ในระเบียบแล้วพวกชาเลเชียนนี้จะเคร่งมาก สมัยก่อนก็มีเสื้อหล่อเขาจะใส่ตลอดเวลา สมัยนี้ยังเห็นเปลี่ยนเป็น กางเกงบ้าง ในสมัยก่อนแม้นเวลาเล่นฟุตบอลก็ยังต้องใส่เสื้อหล่อ ชุดสีก็มีสีขาวก็มีบ้างแล้วก็ทั้งคุณพ่อ ทั้งบราเดอร์ ทั้งเณรเตะ ฟุตบอลวิ่งกันเต็มสนามที่หัวหิน คนขับรถผ่านไปผ่านมาคนก็คงงงว่า โอ้โหนี่วิ่งกันพล่านสนามเลยใส่เสื้อหล่อกันหมด แต่เสื้อหล่อนั้น ก็เหนียวพอสมควรน่ะ ไม่ใช่ผ้าธรรมดา ก็สนุกดี เป็นชีวิตที่มี ความสุขน่ะนะ พูดจริง ๆ แล้ว มีความสุขมาก แล้วก็หลังจากนั้นก็ ผมก็คุมเณร ออกจากโนวิสแล้วก็เรียนปรัชญา ผมมีหน้าที่เป็น บราเดอร์ที่ดูแลเณรก่อน พวกพ่อจรัสที่เซนต์ดอมินิกเนี่ย ตอนนั้น ยังเป็นเด็ก ๆ ก็ดูแลอยู่... สมัยผมเป็นเณรพระคุณเจ้าประพนธ์ เป็นบราเดอร์ดูแลอยู่ มีคุณพ่อสนิท คุณพ่อสนม ก็อยู่ด้วย ตอนนั้น ก็สนิทกันมากรู้จักกันดี หลังจากดูแลเณรแล้วต่อมาค่อยไปเมืองนอก ก็ไปเรียนเทววิทยา
อุดมศานต์
: เรียนที่อิสราเอลใช่ไหมครับ?
ดร.ธนู
: ครับแต่สมัยนั้นยังเป็นจอร์แดนอยู่ เดินจากบ้านเณรไป เบธเลเฮมไม่ไกล เวลาเขาสอนเขาจะสอนเป็นภาษาอิตาเลียน ตำราเป็น ภาษาลาตินหมด ก็อยู่ไปก็ปรากฏว่าสุขภาพแย่มาก ก็ไปขอว่าคง ไม่ไหว ก็ออกตั้งแต่ตอนนั้น ก็เหลืออีก 3 หรือ 4 ปี ก็คงจะได้บวช ถ้าถามผมว่าเสียดายไหม เสียดาย ถ้าสามารถที่จะย้อนเวลา ไปได้ หรือถ้าสมมุติว่าสุขภาพดี ก็อยากที่จะอยู่ต่อ คือมีความสุข แล้วก็ชอบชีวิตแบบนั้น แต่ว่าพระก็กำหนดไว้แล้วว่ากระแสเรียกแต่ละคนเป็นยังไง ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะบวชได้ เราก็ ออกมาเป็นฆราวาส
อุดมศานต์
: การอบรมของซาเลเซียนที่ว่าเข้มงวดเนี่ย มันมีผลต่อชีวิตเยาวชนอย่างไร?
ดร.ธนู
: ครับมีมาก มันทำให้คนมีวินัย สร้างความมีวินัยในตัว ของเรา ความตรงต่อเวลา รู้จักคิด แยกแยะเหตุและผล อันนี้ สำคัญมาก แต่ว่ามันก็มีจุดอ่อนนิดหนึ่งคือคล้าย ๆ ว่าเขาฝึก อบรมมาโดยพยายามที่จะรักษาเหมือนไข่ในหินมากเกินไป อันนี้ วิจารณ์ได้เลย คืออยู่ในหินมากไป เพราะฉะนั้นสำหรับบางคน พอเวลามีอิสระแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ความพยายามของตัวเองมาก เท่าที่ควร บางครั้งถูกปกป้องทั้ง หมดโดยบางครั้งมันสบายเกินไป ไม่ว่าถูกหรือผิดน่ะ มันก็ควรที่จะให้เขาได้มีโอกาสที่จะต่อสู้ด้วย ตัวเขาเองด้วย ไม่ใช่ว่าป้องกันให้ทั้งหมด สบายเกินไปไม่เคยลำบาก เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นจุดหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
อุดมศานต์
: แล้วตอนที่ออกจากเณรมานี่ไม่ทราบว่าคนรอบข้างเขามีปฏิกิริยาอย่งไร?
ดร.ธนู : ก็ไม่มี มีแต่พวกเพื่อน ๆ เสียดาย
อุดมศานต์
: แล้วทางครอบครัวล่ะครับ?
ดร.ธนู
: ไม่มีปัญหาครับเขายังไงก็ได้
อุดมศานต์
: แล้วพี่น้องยังมีใครตามเข้ามาเป็นเณรอีกไหม?
ดร.ธนู : ไม่มีเลยครับ ผมมีน้อง 7 คน ผู้ชาย 3 ผู้หญิง 4 พวก ผู้หญิงถ้าไม่เรียนเซนต์โยฯ ก็มาแตร์ฯ ส่วนผู้ช่ายก็อัสสัมฯ แล้ว ก็จบปริญญาทุกคน บางคนจบปริญญาโทก็มี... หลังจากออกมา แล้วก็รักษาตัวอยู่สักพักหนึ่ง ตอนแรกผมกะว่าจะไปเป็นหมอ ก็ไปสมัครสอบเอ็นทรานซ์เหมือนกัน เขาต้องสอบหลายวัน สอบได้วันเดียวเท่านั้นแหละไม่สบายอีกแล้ว ก็เลยไม่ได้สอบด้วย แล้วก็เลยไม่ต้องไปดูผลอะไร รู้ตัว ตอนนั้นอายุ 24 แล้ว ก็มามองดูว่า เราควรจะเรียนอะไร รออีกปีก็ไม่ไหว อายุมันเลย เกณฑ์พอสมควรแล้ว ก็พอดีไปอ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประทับใจว่า เออ นี่เป็นฝรั่งสอน มีฝรั่งมาสอนเป็นการร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศอะไรต่างๆ เหล่านั้นนะ ก็รู้สึกว่าถ้า จะดีนะก็เลยมาติดต่อมาดูแล้วก็มาสอบเข้าที่นี่ที่วิทยาลัยกรุงเทพ สมัยนั้นถนนหนทางยังไม่ดี มาทางคลองเตยยังมีคลองอยู่ข้างๆ ถนนก็เล็กๆ นะ เลยคลองเตยมาแล้วมันก็ไม่ใช่ถนนดีอย่างสมัย นี้หรอก รู้สึกจะเป็นลูกรัง สมัยก่อนมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็มี อาคารเรียนหลังสองหลังเท่านั้นเอง ก็เข้ามาเรียน แต่การเรียน การสอนเขาดีเขามีความร่วมมือกับต่างประเทศ แล้วภาษาอังกฤษ ก็ใช้ได้ เรียนค่อนข้างจะสบายเพราะว่าเราก็ผ่านมาเยอะแล้ว ภาษาอะไรเราก็สบายอยู่ เพราะฉะนั้นมาเรียนแล้วก็กลายเป็น รุ่นพี่ของเพื่อนๆ แล้วช่วยติวช่วยอะไรเขา ก็ไม่มีปัญหาอะไร
อุดมศานต์
: เข้าเรียนคณะอะไรครับ?
ดร.ธนู : คณะบริหารธุรกิจ เป็นรุ่นที่ 5 ของวิทยาลัย สมัยนั้น เปิดมาได้ 5 ปี ตลอด 5 ปีนั้นไม่เคยมีใครได้เกียรตินิยมเลย ผมเป็นคนแรกที่ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งของวิทยาลัยกรุงเทพ เขาก็ตื่นเต้นกัน สมัยนั้น อาจารย์เจริญ คันธวงศ์ เป็นอธีการบดี ผมมาเรียนเทอมแรกได้ เอ หมดทุกวิชา ก็ไม่เคยมีใครได้ เขาก็ เชิญขึ้นไปพบ อยากที่จะชวนมาเป็นครู แล้วถ้ามาเป็นอาจารย์ ที่นี่ จะให้ทุนเรียน 4 ปี เรียนฟรีตั้งแต่เทอมที่หนึ่งไป ตอนนั้น ไม่เคยคิดจะเป็นอาจารย์ คิดแต่ว่า ถ้าสมมุติว่าเราไม่ได้บวชแล้วออกมา นี่น่ะ ก็เราคงจะไปทำธุรกิจ หรือว่า ไปทำอะไรที่เป็นของตัวเอง หรือว่า อาจจะไปทำงานบริษัทฝรั่งก็คิดแค่นั้น อาจารย์เจริญมาชวนก็คิดดูแล้วไม่เอา ก็ตอบปฏิเสธไป อีกอย่างหนึ่งผมรู้อยู่แล้วว่าวิทยาลัยกรุงเทพ สมัยนั้นมี ธนาคารต่างๆ เขาให้ทุนสำหรับ นักเรียนที่ท๊อปของห้องอยู่แล้ว สมัยก่อน จำได้ว่าเทอมหนึ่งเสีย 2,000 บาท ค่าเล่าเรียนปีหนึ่งก็ 4,000 บาท ทุนนี้มัน 4,000 บาท ก็คิดในใจว่ายังไงๆ เราท๊อปอยู่แล้ว ไม่มีคนมาแซงแน่นอนน่ะ แล้วก็ถ้าเขาไม่เบี้ยวเสียก่อน เขาคง จะต้องให้ทุนเรา เพราะฉะนั้นไม่ต้องรับทุนเขา ก็มีทุนให้เรา ไม่มีผูกผันอะไรอยู่แล้ว ก็เรียนมาพอสิ้นปีที่ 1 ก็ได้ทุนที่ว่าเป็นทุนของธนาคารกสิกรไทย แล้วก็ได้มาทุกปี
อุดมศานต์ : ขอโทษครับตอนนั้นหน่วนกิตเท่าไรครับ?
ดร.ธนู : เขาไม่คิดหน่วยกิต เขาคิดเหมา เทอมละ 2,000 บาท เดี่ยวนี้หน่วยกิตละ 1,000 บาท แต่ว่ามันตั้ง 20 กว่าปีมาแล้วด้วย ตอนนั้น 2,000 บาทก็สูงพอสมควรทีเดียว เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเก็บไม่กี่ตังค์ 10 บาทหรือเท่าไรไม่รู้ ก็เรียน มาโดยปกติ ทางผู้บริหารก็จับตามองโดยเราไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน เขาก็อยากได้เรามาเป็นอาจารย์ ก็พอถึงปีที่ 4 ก่อนจะจบ ทางผู้บริหารก็เชิญไปพบอีก บอกว่ามาเป็นอาจารย์ไหม ถ้าเป็นจะให้ทุนไปเรียนเมืองนอกไปทำปริญญาโทต่อผมก็อยากไป วิทยาลัยสมัยนั้นเนี่ย ก่อนจะส่งไปต้องมาทำงานก่อน 1 ปี คือ มาเป็นอาจารย์ติวเตอร์ก่อน 1 ปี ดูว่าความประพฤติ แล้วก็การสอนการเรียนเป็นยังไง มาดูใจกันสักปี แล้วค่อยส่งไป เอาไหม ผมบอกว่า แหม! ตอนนั้นผมก็อายุมากแล้วน่ะ แล้วก็ถ้าผมตัดสินใจรับปากแล้วผมทำจริง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ทุนก็คงต้องให้ทุนทันที จบปุ๊ปไปทันที ไม่รอหรอก เขาก็กลับไปคิดประชุมกันในที่สุด เขา ก็ยอมตกลง จบทันทีไปทันทีเหมือนกัน ก็พอจบปุ๊ปก็สอบโทเฟล อะไรเรียบร้อย ก็ไปเรียนที่ มหาวิทยลัยแฟร์เล่ ดิ๊กคินชัน ไปเรียน ทางด้าน MBA ด้านการเงิน ก็ไปตอนนั้นมีเงื่อนไปการใช้ทุนอยู่ 3 เท่า คือหมาายความว่าไปเรียน 1 ปี ต้องกลับมาใช้ทุนถึง 3 เท่า เหตุผลหนึ่งผมรับไว้โดยไม่ได้ตั้งใจอยากเป็นอาจารย์ คือคำพูด ของอาจารย์เจริญ ซึ่งเป็นอธิการบดีในตอนนั้น พูดว่า "ไปเถอะ ถ้าหากว่ายังอยากไปทำงานของตัวเอง หรือว่าไปทำงานบริษัท ฝรั่งอะไรต่างๆ มันแป๊ปเดียวนะ ถ้าคุณไปปีเดียวก็ใช้ทุน 3 ปี หมดสัญญาแล้วก็ไปได้" ผมก็เลยตัดสินใจรับทุนตรงนี้ จะได้ไม่ต้องรบกวนทางบ้าน เพราะทางบ้านมีน้องอยู่ตั้ง 7 คน... เมื่อไปถึงผมก็ลุยเรียนเลย ผมใช้เวลาแค่ 11 เดือนเรียนจบแล้วก็ได้ เกียรตินิยมกลับมา เพราะฉะนั้นภาระที่จะผูกพันก็แค่ 33 เดือน ไม่ถึง 3 ปีด้วยซ้ำ ตอนผมกลับมาพวกรุ่นๆ ก็จบปริญญาตรีในเวลาเดียวกัน พอกลับมาเนี่ย ก็ได้เป็นคณบดีคณะบริหารธุรกิจ และสอนเด็กปี 3 - ปี 4 ในพิธีประสาทปริญญาบัตรของเพื่อนร่วมรุ่น ผมเข้าพิธีในฐานะคณบดี แล้วก็เป็นผู้ประกาศชื่อของบัณฑิตรวมทั้งตัวแฟนผมด้วย แฟนก็เป็นคลาสเมทกันเหมือนกัน เรารู้จักกันตั้งแต่ปี 1 แล้วจนกระทั่งจบปี 4 ไปเมืองนอกกลับมาแล้วก็แต่งงานกันก่อนที่เขาจะรับปริญญา เพราะฉะนั้นตอนที่เขารับปริญญาเขาท้อง 3 เดือน ก็ผ่านไปเรียบร้อย ผมก็ต้องทำงานชดใช้ประมาณ 33 เดือน ก็ประมาณ 3 ปี หย่อนไป 3 เดือน พอทำงานใช้ทุนที่นี่ไป ได้ 2 ปี เท่านั้น ทางนี้ก็มาติดต่ออีกว่าอยากเรียนปริญญาเอกอีกไหม จะให้ทุนเรียนอีก ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครที่เขาให้ทุนระดับปริญญาเอก ผมก็คิดว่า ไหนๆ ก็มาถึงตรงนี้แล้ว ที่จริงพอเริ่มสอนแล้วก็ชอบ มีความสุขกับการสอน อาจจะเป็นเพราะว่าการที่ไปอยู่กับคณะซาเลเซียน สอนและฝึกอบรมเยาวชนอะไรต่างๆ แล้วก็แม่เคยเป็นครู มันก็คงจะมีเชื้ออยู่อยู่บ้าง จึงรักการสอน ชอบ แล้วก็อยากช่วยเด็กๆ เพราะฉะนั้นก็เต็มใจรับทุนไปอีก คราวนี้ตอนที่ไปตอน นั้นไปทำปริญญาเอกลูกผมอายุ 6 เดือน ผมตัดสินใจไปเพราะว่าถ้าปล่อยช้า คงไม่ไหวแล้ว ลูกโตขึ้นมันภาระเยอะ ตัดใจไปทำปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น อิลลินอยส์ ทางการบริหารมหาวิทยาลัย และก็ตั้งใจว่าจะต้องทำให้เร็วที่สุด เพราะว่าห่วงทางบ้านด้วย ก็เลยวางแผนตั้งแต่ต้นเลย มีเท่าไหร่ทุ่มสุดตัว ผมก็เตรียมตั้งแต่ก่อนไปแล้ว โดยการวิเคราะห์ดูว่า ถ้าเราไปเรียนสายนี้มันจะต้องทำเรื่องแนวนี้แนวนั้น แล้วปรึกษาคนที่รู้ รวบรวมข้อมูลไว้ได้ประมาณ 80% ผมเขียนเรื่องปัญหาและอุปสรรคของวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย คือตั้งใจว่าอันนี้เราต้องไปเสนอให้เขายอมรับเราให้ได้ ให้เราเขียนเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้ก็จบเลย เราก็ทุ่มสุดตัว แต่ผมก็คิดว่ามันน่าจะต้องได้ แล้วที่สุด ก็ได้จริง ๆ เพราะฉะนั้นก็ทุ่นเวลาได้อีก ระหว่างที่ไปเรียน ที่เซาเทิร์น อิลลอนอยส์นั้น คนอื่นเขาเรียนกันเทอมละ 3 วิชา ผมเรียนบางเทอม 6 วิชา ระดับปริญญาเอก 4-6 วิชาเป็นประจำ ก็ใช้เวลาทั้งสิ้นรวมเขียนวิทยานิพนธ์ 2 ปีเต็ม แล้วโชคดีได้เอทุกวิชา ในขณะเดียวกันตอนอยู่ที่โน่นก็สอบชิงทุนเขาอีก เพราะว่าทางนี้ให้เงินไปแล้วเนี่ยนะเขาซับพอร์ตหมดค่าเล่าเรียนค่ากินอยู่ แต่ตอนนั้นเขาให้ประมาณ 250 เหรียญต่อเดือนก็ 20 กว่าปีแล้ว มันก็พอกินพอใช้น่ะ แต่เผอิญที่เรียนอยู่เขามีทุนพิเศษ เรียกว่า "สเปเชียล ดอกเตอร์ แอสซิสแทนต์ชิฟ" ซึ่งดีพาร์ทเมนต์ต่าง ๆ ของเราส่งคนไปชิงกัน พอดีผมได้ทุนทางโน้นด้วย เขาก็ให้เงินมาอีกเดือนละประมาณ 300 เหรียญ เป็นเงินสด แล้วก็ค่าเล่าเรียนฟรี แต่ว่าต้องไปช่วยโปรเฟสเซอร์วิจัยอาทิตย์ละ 20 ชั่วโมง หรือวันละประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งผมก็ทำในระหว่างเรียนไปด้วย ก็ได้ประสบการณ์เยอะพอสมควร ภายใน 2 ปี จบเรียบร้อย ก็กลับมาเริ่มทำงานที่นีต่อ มาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ตั้งแต่นั้นมาก็อยู่ที่นี่โดยตลอด
อุดมศานต์ : ไม่คิดจะเปลี่ยนแล้วใช่ไหมครับ?
ดร.ธนู
: คงไม่เปลี่ยนน่ะ คือใจมันรักเนี่ยน่ะ ก็รู้ว่าใจรักแล้ว ที่นี่มีความอบอุ่น ทำงานด้วยแล้วสบายใจ มีเพื่อนร่วมงานที่ดี รู้สึกว่าเจ้าของหรือผู้รับใบอนุญาตเนี่ย เขามีเป้าหมายที่อยากจะช่วยสังคมจริง ๆ เขาไม่ต้องการที่จะเอากำไรอะไรเพื่อจะเข้าตัว เพราะเขารวยอยู่แล้ว เขาต้องการแค่เกียรติแก่วงศ์ตระกูล และเพื่อสังคม แล้วเราสามารถทำได้เต็มที่ตามที่เราปรารถนาว่าอยากให้มันดีอย่างไง ก็ทำอยู่ที่นี่มาโดยตลอดไม่ได้เปลี่ยนไปไหน ระหว่างที่กลับมาแล้วเขาก็ยังส่งไปโน่นไปนี่อยู่เรื่อย ก็พอจบปริญญาเอกแล้วก็ยังไปเรียนหลังปริญญาเอกที่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อีกทางหนึ่ง แอดวานซ์ แมนเนจเมนต์  โปรแกรม ไปอยู่ 4 เดือนเต็ม ๆ ก็ได้มีประสบการณ์ คนที่เข้าเรียนที่นั้นมี 160 คน ในรุ่นมีคนไทยคนเดียว มีชาวต่างชาติประมาณ 20 คน นอกนั้น 140 คน เป็นชาวอเมริกันระดับท๊อปเอ็กเซ็คคิวทิฟทั้งนั้น โครงการนี้สำหรับผู้บริหารชั้นสูงสุด สำหรับผู้ที่จะก้าวมาเป็นท๊อปแมนของออกาไนซ์เซชันระดับเป็นพันล้าน ก็ได้ประสบการณ์มาก และต่อมาท่านอาจารย์เจริญ ก็เกษียณอายุ 55ปี ท่านเลือกเกษียณเอง ท่านอยากจะทำการเมืองเต็มตัว ส่วนผมก็มาเป็นอธิการบดีแทน
อุดมศานต์ : ตอนนั้นประมาณปีไหนครับ ?
ดร.ธนู
: ปี 2531 ก็ประมาณ 9 ปีมาแล้ว แต่ผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการอยู่ 11 ปี ก็อยู่มาโดยตลอด รู้ปัญหาหมด

อุดมศานต์
: อาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ถนนยังเป็นลูกรังจนบัดนี้ขยายวิทยาเขตไปที่รังสิตแล้วคิดอย่างไรบ้างครับ?
ดร.ธนู
: ก็มีความก้าวหน้ามีความเจริญมาโดยตลอด ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของอาจารย์ ของผู้บริหารที่นี่ ซึ่งก็ได้ทุ่มเท และมีความรักในสถาบันจริง ๆ เรามีทีมงานที่ดีมาก สามารถช่วยกันทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้
อุดมศานต์
: แล้วโครงการในอนาคตจะมีอะไรต่อไปครับ?
ดร.ธนู
: ก็ตอนเราก็เปิดปริญญาเอกแล้ว แล้วจะจบรับปริญญา ปี 2540 เป็นรุ่นแรก แล้วตอนนี้ก็กำลังจะเปิดปริญญาเอกอีกสาขาหนึ่ง กำลังเจรจากับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอยู่ เป็นโครงการที่ร่วมกัน ปีแรกเรียนที่กรุงเทพฯ ปีที่สองไปเรียนที่อเมริกา ปีที่สามกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น กำลังมองว่าอนาคตอยากจะเปิดแคมปัสที่ 3 แต่คราวนี้ต้องใหญ่ ต้องการเนื้อที่ 1000 ไร่ขึ้นไป กำลังมองๆ อยู่ แถวๆ ปากช่อง โคราช ซึ่งอยู่ในสถานที่ไม่ห่างไกลกรุงเทพฯ เท่าไรนัก การคมนาคมดี สวยเหมือนสวิส อากาศดี วิวดี คงจะเป็นแบบมี ห้องพักเป็นเมืองเล็กๆ ส่วนที่รังสิตปีนี้ก็เริ่มสร้างหอพักแล้ว เริ่มตอกเสาเข็ม อีกปีกว่าๆ ก็เสร็จ ในโครงการแรกนี้ก็ 800 ห้อง ตึกทันสมัยมาก ทำแบบกึ่งโรงแรมเลย มีติดแอร์เรียร้อย มีระบบรักษาความปลอดภัย มีทุกอย่าง ที่รังสิตก็ขยายเกือบเต็มที่แล้ว ที่นั้นมี 350 ไร่ ส่วนที่นี่มีประมาณ 20 กว่าไร่
อุดมศานต์
: ส่วนใหญ่เขาจะมองว่ามหาวิทยาลัยเอกชนนี่จะแพง มันจะเห็นข้อจำกัดสำหรับบางคนที่เรียนดีแต่ไม่มีทุนไหม?
ดร.ธนู
: วิทยาลัยเองมีทุนให้นะ มีหลายประเภท แต่ในภาวะปัจจุบันสิ่งนี้ไม่ไช่ข้อสกัดกั้นไม่ไห้คนเรียนได้ เพราะเวลานี้ รัฐบาลมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งทุกคนสามารถกู้ได้อยู่แล้ว ปีที่แล้วเนี่ยให้มา 4,000 พันล้าน ปีนี้เพิ่มเป็น 10,000 ล้าน ปีที่แล้วก็มีเงื่อนไขซึ่งจะทำให้ไม่สะดวก คือพ่อแม่ต้องมีรายได้รวมกันไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คือปีละไม่เกิน 120,000 บาท ซึ่งค่อนข้างจะต่ำ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่มีเงินมากกว่านี้ก็เลยกู้ไม่ได้ ปีนี้เขาเปลี่ยนแล้วเป็นพ่อแม่มีเงินรวมกันปีละไม่เกิน 300,000 บาท ก็กู้ได้ เพระฉะนั้นก็จะมีคนมีสิทธิ์กู้ได้เยอะขึ้น และดอกเบี้ยก็แทบจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องลงทุนเพราะว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเนี่ยผลประโยชน์มันได้กับตัวเขาเองผมว่าครึ่งต่อครึ่งกับประโยชน์ต่อสังคมหรือประเทศชาติ แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นระดับประถม แน่นอนรัฐบาลต้องให้ เพราะว่ามันเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่ว่าระดับอุดมศึกษาเนี่ย นักศึกษาควรจะต้องรับผิดชอบตัวเองส่วนหนึ่งทีเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีเงินก็มีกองทุนสำหรับกู้ยืม แล้วก็ไม่ได้กู้ยืมยากเย็นอะไร หลักทรัพย์ก็ไม่ต้องมี อาจจะมีคนค้ำประกันบ้างเล็กน้อย สะดวกมาก ผิดกับสมัยก่อน
อุดมศานต์ : ขอย้อนกลับมาถึงตำแหน่งอธิการบดีนะครับว่า มีความยากง่ายในการบริหารคน บริหารงาน และปัญหาอุปสรรค อะไรบ้างครับ?
ดร.ธนู : โชคดีนะ คือ ประการที่หนึ่งผมเป็นลูกหม้อมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นผ่านมาทุกระดับแล้วตั้งแต่เป็นอาจารย์ เป็นคณบดี เป็นรองฝ่ายวิชาการขึ้นมาเนี่ย เพราะฉะนั้นเขาเรียกว่า มีบารมีพอสมควร คนยอมรับนับถือมาตั้งแต่ต้น เราไม่ใช่คนนอกมาจากไหน เราพิสูจน์ฝีมือตั้งแต่ระดับล่างๆ ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเขายอมรับ เมื่อเกิดความยอมรับแล้ว ความร่วมมือมันก็มี แต่ทีนี้ปัญหาก็คือว่า เราต้องมีหลัก เราต้องมีคุณธรรมในการบริหารงานคน เขาถึงจะยอมรับได้เสมอไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีความยุติธรรมและต้องมีทั้งพระเดชพระคุณ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารงานคือเรื่องคน คือถ้าหากว่าเรามีคนที่ดีอยู่กับเรา กิจการมันก็ไปได้ดี ส่วนไอ้ตึกรามบ้านช่องหรือว่าออฟฟิศโก้หรู เนี่ยมีเงินก็สร้างได้ แต่คนเนี่มันต้องใช้เวลามาก เพราะฉะนั้น มหาวิทยาาลัยกรุงเทพก็มีนโยบายว่าจะต้องให้ทุนเยอะ ปีหนึ่ง ประมาณ 50 คน อยู่ต่างประเทศ คนละประมาณ 5-6 แสนบาท เราส่งไปเรียนเมืองนอกเนียประมาณ 50 -60 คน ทั้งระดับโทและเอก ในประเทศอีกเยอะ ขนาดนั้นยังไม่ค่อยพอใช้เลยกับการขยายเนี่ย เพราะว่างานเราขยายเจริญเร็วมาก เพราะฉะนั้น การพัฒนาคนถือว่าเป็นหัวใจของ ม.กรุงเทพ
อุดมศานต์ : อยากถามทัศนะเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย อยากให้อาจารย์มองระบบการศึกษาของไทยโดยรวมว่า มันเหมาะสำหรับเด็กไทยในยุคนี้หรือเปล่า?
ดร.ธนู : ถ้าหากว่าโดยทั่วไปคือ ยังล้าหลัง คนที่เรียนโรงเรียนคาทอลิกเนี่ยได้เปรียบ เพราะว่า ร.ร.คาทอลิกส่วนใหญ่เนี่ย เขาได้ความคิดมาจากประเทศตะวันตก ซึ่งประเทศตะวันตกเขาก้าวหน้าล้ำเราไปแล้ว เพราะฉะนั้น ร.ร.คาทอลิกส่วนมากจะเน้นเรื่องระเบียบวินัย เรื่องภาษา เรื่องคณิตศาสตร์ เรื่องอะไร ต่างๆ ซึ่งมันเป็นหลัก เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาษา ร.ร.คาทอลิกจะได้เปรียบและเรื่องภาษานี้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ทั่วโลกติดต่อถึงกันหมด และสิ่งที่จะเชื่อมโลกได้คือภาษา และภาษาอังกฤษนี้ล่ะคือตัวเชื่อมโลก ระบบเทคโนโลยีต่างๆ อินเทอร์เน็ต มันก็เป็นภาษาอังกฤษซะส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าภาษา ดีซะอย่าง จะไปได้ไกล ในสมัยก่อนประเทศไทยจะกีดกันมาก ด้านภาษา ภาษาจีนก็ไม่ให้เรียน กลัวจะเป็นคอมมิวนิศต์ ภาษาอังกฤษใน ร.ร. ก็ไม่ให้เราเรียน ร.ร. รัฐบาลน่ะ บ้างก็บอกว่าไม่จำเป็น ต้องเอาภาษาไทยให้แน่นก่อน แล้วพอแก่ๆ แล้วค่อยมาเรียนภาษาอังกฤษ แต่ภาษานี้ต้องเรียนตั้งแต่เด็กๆ ลิ้นมันจะได้ไปมันจะได้เข้าใจดี ส่วน ร.ร.คาทอลิก จะปูตั้งแต่เด็กๆ มันก็ได้เปรียบ ฉะนั้นมันต้องปรับการศึกษาให้หมด เวลานี้สิ่งที่จะต้อง เน้นก็คือสองเรื่อง เรื่องภาษากับเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเล็กๆ ได้คุ้นกับสิ่งเหล่านี้ สมัยก่อนยังจำได้ วิทยาลัยเอแบคมีปัญหาเพราะขอเปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษล้วน กว่าจะได้ยากมากตอนนั้นผมก็ทราบข่าวเหมือนกันรู้ว่าทางรัฐบาลไม่ยอม ทางทบวงฯ ไม่ยอมเห็นด้วย แต่ปัจจุปันกลับพยายามส่งเสริมให้มี อินเตอร์เนชั่นแนล สคูล, อินเตอร์เนชั่นแนล โปรแกรม เยอะๆ ซึ่งมันล้าหลังมาก ทางโน้นเขาเห็นการณ์ไกลมาตั้งนานแล้ว มหาวิทยาลัยกรุงเทพในสมัยก่อนจะเน้นภาษาเหมือนกัน ในทุกหลักสูตรจะต้องเรียนภาษาอังกฤษอย่างน้อย 8 คอร์ส รัฐบาลไม่ยอม บอกมากไป เวลานี้ดีขึ้น แต่ในเวลานี้ทางภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก็ยังได้รับการสนับสนุนน้อย น้อยมาก และเราก็พึ่งตัวเองอยู่เกือบ 100% ขนาดพี่งตัวเอง ยังทำได้ถึงขนาดนี้เลย แล้วถ้าหากว่าได้รับการส่งเสริมที่ถูกทาง มันจะไปโลดแค่ไหน ลองคิดดูก็แล้วกัน และผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวม
อุดมศานต์
: เมื่อสักครู่อาจารย์ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญกับการพัฒนาของเด็กและเยาวชน แต่ที่นี้ในบางส่วนก็อาจมีสื่อที่ไม่ดีออกมาก็มีส่วนทำให้เยาวชนเดินผิดทางเหมือนกัน ไม่ทราบว่า อาจารย์มีทัศนะกับตรงนี้อย่างไรครับ?
ดร.ธนู
: คือผมมองว่าสมัยก่อนเนี่ย ไอ้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมอะไรมันยังน้อย คือมลภาวะทางศีลธรรมหรืออะไรต่างๆ ค่อนข้างจะน้อย เราพอที่จะกันได้ แต่เวลานี้มันเยอะเหลือเกิน กันอย่างไรก็กั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีวิธีเดียวที่จะสู้ได้ ก็คือสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน การเลี้ยงเด็กเนี่ย ถ้าเราพยายามที่จะป้องกัน เช่น นั่นก็เชื้อโรคนี่ก็เชื้อโรค เล่นกับดินก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ ไม่ได้หมดเนี่ย โอเค. ถ้าตราบที่เราดูแลอยู่ 24ช.ม. เขาก็ปลอดภัย แต่วันไหน หลุดเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น เด็กเยาวชนก็เหมือนกัน ในเวลานี้ มลภาวะมันเยอะ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันต้องสอนเขา หรือสร้างระบบยังไงให้เขารู้ที่จะเลือก ที่จะรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี สร้างความมั่นใจให้ตัวเขาเอง สร้างความเป็นตัวของตัวเองเพื่อจะได้ไม่หลงตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีภูมิคุ้มกันแล้วไปอยู่ที่ไหนก็ปลอดภัย อย่างที่เขาบอกว่าระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นองค์ความรู้มหาศาลเนี่ย มันก็มีทั้งดี หรือบางที่ที่เรียกว่าขยะก็มี ถ้าเราจะคอยกันโน่นกันนี่ เราก็กันได้ไม่หมดหลอก กันได้เป็นบางอย่างเท่านั้น เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่สอนให้คนรู้จักเลือก ว่าควรจะใช้เวลาไปกับสิ่งนั้น อะไรบางอย่างเราควรจะตัดสินวิเคราะห์อย่างไร อย่างนั้นดีกว่า อย่าคิดไปครอบ เพราะในระยะยาวเราทำไม่ได้ เราต้องตั้งต้นให้ถูกทางไม่ต้องไปเสียเวลาในการที่เราจะไปล้อมเขา
อุดมศานต์ : แล้วเกี่ยวกับปัญหายาบ้า ยาเสพติดล่ะครับ ตอนนี้รู้สึกว่า รัฐบาลก็ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มา ในฐานะที่เป็นนักการศึกษา อาจารย์มองปัญหาของเยาวชน หรือของนักศึกษาเกิดขึ้นจากอะไร ?
ดร.ธนู : ปัญหาคือการไม่มีความอบอุ่น ผมว่าไม่มีใครหรอก ไม่ว่าเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ที่อยากจะไปเสพยา นอกจากชั่วครั้งชั่วคราวหรือว่าด้วยความประมาท เพียงแต่ว่าเขาขาดที่พึ่งทางใจ และขาดความอบอุ่น คนทุกคนต่างใฝ่ดี ผมมองในแง่นั้น มองในแง่ทฤษฎี Y ผมไม่มองทฤษฎี X ที่บอกว่าคนมันเลวมาแต่กำเนิด ผมว่าคนเราใฝ่ดี แต่ว่ามันมีปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งทำให้มันดีไม่ได้ มันก็เลยชั่วไป เพราะฉะนั้นสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากว่าพ่อแม่รักกันมีความอบอุ่นในบ้าน เด็กที่ไหนมันจะไป เขาก็อยู่กับพ่อแม่ ถ้าโรงเรียนดี อบรมดี ครูอาจารย์ก็เป็นที่พึ่งได้ เขามาเองก็คงไม่อยากที่จะไปเป็นโจรและก็คงไม่อยากที่จะไปเสพยาด้วย แต่บางครั้งไม่รู้จะไปที่ไหน คนมันหมดที่พึ่ง มันก็ต้องไปพึ่งสิ่งเหล่านี้ แล้วพวกเหล่านี้ พรรคพวกคล้ายจะรักกัน พวกเดียวกันเข้าใจกันจึงเห็นว่าดีกว่าพ่อแม่อีก แต่ถ้าสถาบันครอบครัวดี โรงเรียนดี สิ่งแวดล้อมดี มันแก้ปัญหาได้ ต้องแก้ให้ถูกจุด ไม่ใช่ว่าจับคนผิดมาลงโทษ จับยาบ้า มันจับเท่าไรก็ไม่หมดหรอก ถ้าเราไม่แก้ที่ต้นเหตุ เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่ารัฐบาลควรจะทุ่มงบประมาณส่งเสริมทางจุดนี้ให้มาก ตอนนี้ก็เริ่มแล้ว มีสถานพักผ่อนหย่อนใจ สนามกีฬาต่าง ๆ อันนี้ดี เป็นทางออกสำหรับเขา ต้องมีทางออกที่ดี ไม่ใช่ห้าม อย่าทำอย่างโน้น อย่าคบคนนี้ แล้วพอมาหาเรากลับบอกไม่มีเวลา เป็นต้น อันนี้คือปกตินะ ถ้าเรามีเวลาให้อย่างที่เขาต้องการ เขาไม่ไปที่อื่นหรอก มนุษย์ทุกคนมีอีโก้ ต้องการความรักความอบอุ่น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าเขาได้จากที่ไหนเขาก็ติดที่นั้น
อุดมศานต์
: ในมุมมองของอาจารย์ เยาวชนคาทอลิกเป็นอย่างไรบ้างครับ เท่าที่อาจารย์สัมผัส อาจจะเป็นพวกลูก ๆ หรือเพื่อนของลูกในสมัยนี้กับสมัยของอาจารย์ต่างกันไหม?
ดร.ธนู
: ผมว่าพระศาสนจักรคงจะต้องมาเล่นทางเรื่องนี้มากขึ้น คือหมายความว่า ไม่ใช่ว่าจะสอนลูกเดียว แต่ไม่ได้สร้างบรรยากาศที่จะให้เยาวชนเขาได้มีกิจกรรมร่วมกัน ต้องให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นอะไรที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นกิจกรรมเยาวชน ก็ควรที่จะมีให้มากขึ้น เพื่อว่าเด็กคาทอลิกจะได้เข้าร่วมกิจกรรม แทนที่จะไปร่วมกิจกรรมชมรมอื่น เขาก็มาร่วมชมรมคาทอลิก การที่มีบรรยากาศที่เอื้อหนุนต่อการได้เห็นเพื่อนซึ่งนับถือศาสนา เดียวกันชวนกันไปในทางที่ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันก็ช่วยทางอ้อมได้ดี และทำให้เกิดความศรัทธามากยิ่งขึ้นด้วย
อุดมศานต์
: แล้วอาจารย์มองนักบวชในประเทศไทยของเราเป็นอย่างไรครับ?
ดร.ธนู : ต้องใจกว้าง คือทั้งพระสงค์และนักบวชควรจะต้องเรียนรู้สภาพสังคมไทยมากขึ้น สภาพสังคมไทยเนี่ยมันไม่เหมือนสภาพสังคมต่างประเทศ ซึ่งมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เรามีวัฒนธรรมของเรา คนไทยนับถือพุทธเนี่ย จริง ๆ แล้วศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นปรัชญา เพราะศาสนาคือการสอนเรื่องชีวิตในโลกหน้า เรื่องพระเรื่องเจ้า แต่ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเรื่องนั้น เขาสอนถึงวิธีการดำเนินชีวิตในโลกนี้เป็นอย่างดี จบในโลกนี้ แล้วก็นิพพานในโลกนี้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว พุทธเนี่ยเป็นคนใจกว้าง เป็นคนโอบอ้อมอารี เป็นคนที่เข้าได้กันทุกฝ่ายด้วยความสนิทใจไม่รังเกียจ จิตใจเขาดีมาก เพราะฉะนั้นพระศาสนจักรทั้งพระสงค์และนักบวชก็จะต้องมองชาวพุทธในฐานะมิตรแท้ มิตรที่ดี ไม่ใช่ว่าเป็นคนละพวก ศาสนาเราก็มีสิ่งที่ดีแล้วเราพยายามส่งเสริม แต่ว่าไม่ต้องไปบังคับเขา หรือดูถูกเขา ต้องให้เกียรติเขา และการที่ให้เกียรติเนี่ยจะทำให้เขาคิดว่าคนถือคริสต์เนี่ยเป็นคนดี ไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว ผมเคยได้ยินเขาบอกว่า พวกคาทอลิกเป็นพวกเห็นแก่ตัว เวลาเขาทำอะไรกับคาทอลิกทำด้วยความเต็มใจ แต่คาทอลิกเวลาทำกับเขาไม่ค่อยจะเต็มใจหาว่าผิด ทำไม่ได้อยู่เรื่อย อ้างอยู่เรื่อย ซึ่งมันมีบางเรื่องทำได้ บางเรื่องทำไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่ทำได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความโอบอ้อมต่อโลกและคนรอบข้างด้วย ถ้าเรามองโลกในแง่นี้ได้ถึงจะอยู่ร่วมกันได้ดี
อุดมศานต์
: แล้วบทบาทของฆราวาสในพระศาสนจักรในปัจจุบันล่ะครับ มองว่าฆราวาสควรจะมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือ หรือว่าทำงานมีบทบาทในพระศาสนจักรมากแค่ไหน
ดร.ธนู
: ผมว่าคาทอลิกเนี่ยนะ ไปอยู่ที่ไหนถ้าหากว่าเราดำรงความเป็นคาทอลิกของเรา เรามีความเชื่อมั่นแล้วเราก็ทำตามคำสอนของศาสนาเราอย่างดี ไม่ดูถูกคนอื่น ไม่เย่อหยิ่งจองหอง เราทำตัวให้เป็นที่รักใคร่ของทุกคนที่อยู่รอบข้างเรานั้น เป็นการแพร่ธรรมที่ดีที่สุด เราไม่ต้องถึงกับไปกลางสนามหลวง ประกาศข่าวพระวรสาร หรืออะไรอย่างนั้น ผมว่าชีวิตของเราแต่ละคนน่ะ เราไปอยู่ที่ไหน ประการที่ 1 เราก็บอกเราเป็น คาทอลิก แล้ววิถีชีวิตของเราให้เป็นแบบอย่างได้ แล้วก็มีความโอบอ้อมอารีกับทุกคนให้เขาเห็นว่า "เออ คาทอลิกนี้เป็นคนดีน่ะ เป็นคนเก่ง แล้วก็เป็นคาทอลิกด้วยอันนี้สำคัญ" ไม่ใช่ว่า"เป็น คาทอลิกเขาว่ามันไม่ได้เรื่อง เก่งก็ไม่เก่ง มันถึงได้เป็นคาทอลิก" อย่างนี้ไม่ได้ แต่คาทอลิกต้องเก่ง ต้องดี ให้เขาบอกว่า "เอ๊ะ!... ต้องมีอะไรดีแน่ ๆ คนนี้เขาเก่งแล้วยังเป็นคาทอลิกเนี่ย แสดงว่า ศาสนานี้เขาคิดว่าเป็นศาสนาที่ดี เขาฉลาดกว่าเรา เขายังมานับถือเลย" อันนี้โน้มน้าวเขาได้ ให้เขาคิด เพราะฉะนั้นผมว่า พวกคาทอลิกเนี่ย จะต้องพยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้มี ศักยภาพให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าเป็นคาทอลิกแล้วพยายามเก็บตัวเงียบเชียบ ไม่เปิดเผยตัวต่อสังคมหรือะไรอย่างนี้เป็นต้น มันก็ไม่มีใครรู้อีกล่ะ
อุดมศานต์
: ก่อนที่เราจะก้าวเข้าสู่ปี 2000 นี้ อาจารย์คิดว่า ฆราวาส เราควรจะกระตุ้นการแพร่ธรรมอย่างไรบ้าง ในส่วนที่เรารับผิดชอบอยู่ นอกจากการโชว์ตัวเองออกมาว่าเป็นคาทอลิกแล้วเนี่ยการที่จะมุ่งออกไปแพร่ธรรม จะทำได้อย่างไร ?
ดร.ธนู : ผมคิดว่าก็คงจะต้องร่วมมือกับทางพระศาสนจักรน่ะ ว่าถ้าเขาขอความร่วมมืออะไรมาก็พยายามที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ทั้งนั้น แต่ละคนก็มีข้อจำกัดว่าเราทำได้แค่ไหนเราก็ต้องทำตามนั้น แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า แม้ว่าเราทำเต็มที่แล้วถ้าพระจิตเจ้าไม่ทรงโปรดแล้วน่ะ ทำแทบตายก็ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้นคำภาวนาก็สำคัญ ที่จะต้องภาวานาให้พระศาสนจักรเนี่ยได้แพร่ออกไปให้มากที่สุด การที่เราพยายามแล้วเนี่ยน่ะ ก็ต้องอาศัยเบื้องบนด้วย ที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ ผมคิดว่า กระแสเรียกเวลานี้ มันมีน้อยและนับวันจะน้อยลง เพราะฉะนั้นรูปแบบของการที่จะเป็นพระสงฆ์ การเป็นนักบวช การเป็นซิสเตอร์เนี่ยนะมันต้องเปลี่ยนแบบก็ต้องมีรูปแบบแบบฆราวาสมากขึ้น ลักษณะโฟโคลาเรหรือว่า เป็นแบบพลมารี หรืออะไรอย่างนี้ให้มากขึ้น คือพระศาสนจักร ก็คงจะต้องสนับสนุนทางด้านนี้เพราะว่าตัวเองทำไม่ได้ไม่พร้อม ก็คงต้องอาศัยฆราวาส แล้วก็คงจะต้องเข้าใจว่าฆราวาสก็มีขีดจำกัดเหมือนกันเพราะฉะนั้นก็จะต้องให้เขาทำในสิ่งที่เขาสามารถทำได้แล้วก็ต้องพอใจแค่นั้นมิฉะนั้นทุกคนก็ต้องไปบวชเป็นซิสเตอร์เป็นพระสงฆ์หมด ถ้าเขาสามารถทำได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามใช้ศักยภาพของฆราวาสเท่าที่มี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วมันอาจจะมีหลายระดับ ใครทำได้แค่ไหนทำได้แค่นั้น มันก็ต้องร่วมมือกันไป
อุดมศานต์ : อาจารย์ได้เข้าร่วมกิจกรรมคาทอลิกในด้านไหนบ้างครับ ?
ดร.ธนู : ผมก็ไม่ค่อยจะมีเวลา แต่ถ้าสมมุติว่าผมสามารถเขียนหรือแปล ผมช่วยคุณพ่อชันนาอยู่ตลอด มีอะไรก็คุยกัน ก็ช่วยๆ กัน อย่างหนังสือคำสอนเนี่ย พวกนี้ผมแปลตอนผมทำปริญญาเอกเขาส่งต้นฉบับภาษาอิตาเลียนไปให้ผมที่เมืองนอกน่ะ ก็ทำเท่าที่ทำได้
อุดมศานต์ : ยังอยู่ในกลุ่มของครอบครัวชาเลเชียนแน่นหนาดีหรือเปล่าครับ ?
ดร.ธนู : ผมก็สนิทกัน ก็รู้จักกันหมด ลูกสองคนก็อยู่ที่เชนต์ดอมินิก
อุดมศานต์ : ที่นี่จะมาเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวบ้างเพราะอาจารย์ยังไม่ได้เล่าชีวิตความรักวัยหนุ่ม
ดร.ธนู : แฟนผมก็เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเหมือนกัน เรียนมาด้วยกัน ก็เริ่มรู้จักกันตั้งแต่ปี 1 มีความเข้าใจกันมาก็ไม่ได้หวือหวาอะไรมากนัก ก็ต่างคนต่างชอบใจกัน พอผมจบปริญญาโทแล้วก็แต่งงานมาได้ 23 ปีแล้วครับ
อุดมศานต์
: ไม่ทราบภรรยาอาจารย์ชื่ออะไรครับ
ดร.ธนู
: ชื่อนงเยาว์ เป็นพุทธ ตอนนี้ยังเป็นพุทธอยู่ เขาเรียนที่มาแตร์ ฯ แล้วก็เข้าวิทยาลัยกรุงเทพ แม่เขาเป็นพุทธแล้วก็เคร่งมาก แฟนผมก็ตักบาตรทุกวัน เขารักแม่เขาเลยไม่หักหาญน้ำใจกัน แต่เวลาไปโบสถ์ทุกอาทิตย์เขาก็ไปกับผม ไปกับลูก ไปทุกครั้ง
อุดมศานต์ : ไปโบสถ์ที่ไหนครับ
ดร.ธนู
: โบสถ์พระมารดานิจจานุเคราะห์ แต่บางทีก็มาที่โบสถ์มหาไถ่ ดอนบอสโกบ้าง แล้วแต่ว่าสะดวกตรงไหน จะไปทั้งครอบครัว
อุดมศานต์ : แล้วลูกเป็นคาทอลิกหรืเปล่าครับ ?
ดร.ธนู : เป็นหมดซิ (หัวเราะ)
อุดมศานต์ : แล้วเขารู้สึกสับสนหรือว่าลำบากใจหรือเปล่า
ดร.ธนู : ไม่ครับ เพราะว่าไม่ได้สร้างความสับสนอะไรให้เขา แล้วเขาก็รู้คือ จริงๆ แล้วแฟนผมจิตใจเขาเป็นคาทอลิก แล้วก็ปฏิบัติดีกว่าคาทอลิกบางคนอีก
อุดมศานต์ : แสดงว่าไม่มีปัญหาเรื่องศาสนสัมพันธ์ในบ้านเลย
ดร.ธนู : ไม่มีครับ ไม่เคยมี เราไม่ได้ไปกีดกันอะไรเขา เขาตักบาตรก็ทำไป เขาไปหาพระก็ไปเราถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเขาก็เชื่ออย่างนั้นด้วย
อุดมศานต์ : อาจารย์มีหลักการในการอบรมลูกอย่างไร
ดร.ธนู
: ก็ผมคิดว่า เราต้องให้ความรักความอบอุ่น คือผมจะพูดกับลูกตลอดเวลา ลูกจะเป็นอย่างไร จะชั่วอย่างไร จะผิดอย่างไรถ้าหากมาหาพ่อแม่ พ่อแม่ให้อภัยหมด ขอให้มาเถอะ มาแล้วตั้งใจว่าจะไม่ทำอีก ยินดีต้อนรับเสมอ เพราะฉะนั้นชั่วชีวิตของเขา จะไปไหนแล้วถ้าหากเขาเกิดผิดผลาดหรืออะไร พ่อแม่ให้อภัยเสมอ คือให้เขามีที่พึ่งตลอดเวลา และพ่อแม่พยายามจะให้สิ่งที่ดีเสมอ ไม่ได้หมายถึงเงินทองลาภยศ แต่ว่าจะให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่เขา ให้ความรักความอบอุ่นแก่เขา
อุดมศานต์
: มีใครสืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อที่ยังไปไม่ถึงบ้างไหม เข้าบ้านเณรอะไรแบบนี้
ดร.ธนู
: อันนั้นต้องเป็นเรื่องของกระแสเรียก แล้วก็เป็นเรื่องของเขาเอง ผมไม่ได้ไปบังคับอะไรเขา ลูกผม 2 คนก็อยู่ที่เซนต์ดอมินิก ผมก็เปิดโอกาสให้เขาใกล้ชิดกับพระสงฆ์ให้มากขึ้นส่วนเขาจะไปไม่ไปเรื่องของเขาจะไปก็ให้ไปไม่กีดกันอะไร
อุดมศานต์ : อาจารย์มีงานเยอะแล้วแบ่งเวลาให้ครอบครัวอย่างไรครับ ?
ดร.ธนู : ส่วนมากวันอาทิตย์จะเป็นวันครอบครัว วันอาทิตย์ผมจะไม่รับนัดใคร ตอนเย็นถ้าไม่มีงานที่ไหนก็จะกลับบ้าน
อุดมศานต์ : ในส่วนของหน้าที่การงาน เกี่ยวกับทางด้านที่เป็นวุฒิสมาชิกอยู่เนี่ยได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไรบ้าง
ดร.ธนู : ก็ผมเป็นกรรมาธิการการศึกษาและวัฒนธรรม มีการประชุมทุกวันอาทิตย์ และประชุมสภาฯ ก็อาทิตย์ละครั้งในสมัยประชุมกรรมาธิการเนี่ยเขาก็มีการพิจารณากฏหมายนั้นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นกฏหมายอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาเข้ากรรมาธิการเนี่ย เราก็ให้ความเห็น แล้วก็แก้ไขไป นั่นเป็นเรื่องและเป็นหน้าที่ของวุฒิสมาชิก เรายังมีการศึกษาว่าอนาคตของประเทศทางด้านการศึกษาวัฒนธรรมและศาสนาควรจะเป็นอย่างไร ? เช่น ในคณะกรรมาธิการ เขาแบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีอยู่ประมาณ 17 คน คนนี้ทำการค้นคว้าเรื่องการศึกษา ผมจะอยู่ในอนุกรรมการนี้ ที่จะแนะนำรัฐบาลได้ว่าการศึกษาทุกระดับ ควรจะปรับปรุงอย่างไร ควรจะไปทิศทางไหน อันนี้เรามี ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน แล้วก็มีอีกกลุ่มหนึ่งทำเรื่องศาสนา อีกกลุ่มทำเรื่องวัฒนธรรม ก็คือต้องไปค้นคว้า และทำรายงานเสนอทางวุฒิสภาและนำไปเสนอทางรัฐบาล ทั้ง 3 กลุ่มเนี่ยเราก็จะมาแชร์ความเห็นกัน เช่น อย่างศาสนาเนี่ย เขาร่างมาให้เสร็จแล้วปรากฏว่าไอ้สิ่งที่เขาค้นคว้ามาเป็นเรื่องของศาสนาพุทธสัก 99% มั้งเพราะคนส่วนใหญ่เป็นพุทธเราก็เข้าคอมเม็นท์ไปเลยว่าไม่ถูกนะเมื่อพูดถึงศาสนา ต้องพูดถึงศาสนาที่เป็นหลัก ๆ ของประเทศทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ ก็ต้องเพิ่มน้ำหนักเข้าไปว่าจะมีการส่งเสริมอย่างไร จะทำให้ศาสนาเป็นที่ฟื้นฟูจิตใจของคนไทยอย่างไร อะไรแบบนั้น เขาก็รับด้วยดี เขาบอกคิดไม่ถึงเพราะฉะนั้นการที่เราไปนั่งอยู่ด้วย ก็สามารถที่จะให้ข้อคิดเขาไปผลที่ออกมาก็อยู่ในรูปที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น อย่างนี้เป็นต้น ในกรรมาธิการนี้มีผมเป็นคาทอลิกคนเดียว ก็มีศาสนาอิสลามอยู่4-5 คน ในกลุ่มนี้มีคริสเตียน อาจารย์สิงโต จ่างตระกลู คนหนึ่งก็คิดว่าทำประโยชน์ได้บ้าง
อุดมศานต์ : อยากพูดเกี่ยวกับแผน 8 นิดหนึ่งว่ามันจะมีส่วนช่วยการศึกษาอย่างไรบ้าง ?
ดร.ธนู : แผน 8 นี้เขาเน้นเรื่องคน และก็มีมาตรการหลายอย่างที่จะสนับสนุนให้การพัฒนาคนนี้เกิดประโยชน์ เช่น การที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ เขาสปอนเซอร์พนักงานให้มาฝึกอบรมเพิ่มเติมเรียนต่อ เขาสามารถนำไปหักภาษี ได้ถึง150% อะไรต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น แล้วรัฐบาลก็มีนโยบาบให้ภาคเอกชนมาจัดตั้งโดรงเรียน หรือสถานฝึกอบรมให้เช่าที่ราชพัสดุ ให้กู้ยืมอะไรแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี ก็คิดว่าแผน 8 เนี่ยเป็นแผนที่ตรงเป้าที่สุด คือมาพัฒนาคน สมัยก่อนแผนต่าง ๆ ของประเทศไทยจะเน้นแต่เศรษฐกิจจนกระทั่งเวลานี้เศรษฐกิจมันก็บูมจริงน่ะ แต่ว่าคุณภาพของคนนี้ด้อยเพราะฉะนั้นมันถึงมีปัญหาอาชญากรรมมีปัญหายาเสพติดมีอะไรต่าง ๆ อีกเยอะเพราะว่าเริ่มไม่ถูกจุด แต่เวลานี้กำลังเข้าจุดที่ถูกต้องแล้ว คิดว่ามันจะดี แม้ว่ามันจะเสียเวลาไปสักนิด
อุดมศานต์ : แล้วเกี่ยวกับ สสร. ที่เขากำลังเป็นข่าว อาจารย์มองว่าอย่างไร ?
ดร.ธนู : สสร. มีปัญหาในแง่ที่ว่า ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองเก่ง เพราะฉะนั้นความคิดเห็นมันก็แตกเยอะเลย ไอ้การที่จะนำความคิดเห็นมารวมกันแล้วก็ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญได้เนี่ยไม่ใช่ง่าย แต่ถามว่ามีทางสำเร็จไหม มันก็คงจะต้องสำเร็จ แต่ว่าสำเร็จอย่างไรนั้น มันก็ต้องคิด ก็ต้องไปวิเคราะห์กันอีกทีเพราะว่าถ้าไม่สำเร็จเขาขายหน้า สสร. ทั้งหมดขายหน้า เพราะฉะนั้นอาจจะเถียงกันบ้าง แต่สุดท้ายอาจจะรวบรัดจบเลย เป็นต้น ผมว่าทุกอย่างควรจะเดินสายกลาง คือจะไปเอาสุดโต่งไม่ได้หรอก มันต้องมองว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเนี่ย มันเป็นอย่างไรมันเดินมาอย่างไร มีองค์ประกอบอะไรต่าง ๆ การแก้ไขอะไรฉับพลันคงยาก แล้วก็เกิดการนองเลือด มันก็คงจะต้องเกิดการขัดแย้งที่รุนแรง รัชกาลที่ 5 เลิกทาสเนี่ยใชเวลาและราบรื่น ค่อย ๆ แล้วที่สุดเราก็ไม่มีทาส อเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองคนตายไปเท่าไร เพราะฉับพลัน รัฐธรรมนูญไทยก็เช่นเดียวกัน การที่จะเอาให้สุดโต่งเลย มันจะเกิดปฏิกิริยาคัดค้านต่อต้านจากคนบางกลุ่ม ซึ่งมีอำนาจเยอะ แล้วทำไปทำมาจะไม่บรรลุจุดหมาย เพราะฉะนั้นมันคงจะต้องเดินสายกลางพอสมควร และอีกสักระยะหนึ่งก็คงจะต้องค่อย ๆ ขยับไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ ผมว่ามันเหมาะกับนิสัยคนไทย เหมาะกับธรรมชาติของคนไทยมากกว่าแต่ต้องอดทนนะ
อุดมศานต์
: ไม่ทราบว่าอาจารย์มีปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง ?
ดร.ธนู
: ปรัชญาของผมง่ายมาก คือเมื่อ 2 วันก่อนก็มอบปริญญาผมก็ให้โอวาทบัณฑิต คือ ผมบอกว่า เป้าหมายของชีวิตเรามันอยู่ตรงไหน เป้าหมายของชีวิตเราในโลกนี้น่ะ ถ้าหากว่าเราไม่พูดในเชิงศาสนา เป้าหมายของชีวิตของเราในโลกนี้ก็คือความสุข มนุษย์ทุกคนแสวงหาความสุข ความสุขมีหลายแบบนะ แต่ความสุขที่ถาวรมันจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ1. เราต้องมีกินมีใช้พอสมควร ไม่ขัดสน อันนี้สำคัญ 2. เราต้องมีครอบครัวที่อบอุ่น 3. เราจะต้องมีมิตรที่ดี 4. เราจะต้องได้ทำงานที่เรารัก 5. เราจะต้องสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสามารถช่วยผู้ด้อยโอกาสที่อยู่รอบข้างเราได้ตามอัตภาพ นี่คือองศ์ประกอบทำให้เรามีความสุข ขาดอันหนึ่งอันใด เราจะไม่มีความสุข เช่น ถ้าสมมุติว่าเราขัดสนมาก วัน ๆ ต้องมานั่งคิดแล้วว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน มันไม่มีความสุข เราจะต้องมีกินมีใช้พอสมควรไม่จำเป็นต้องเป็นมหาเศรษฐี ไม่ต้องสะสมมาก มีครอบครัวที่ดีที่อบอุ่น สามารถปรองดองกันได้อย่างดี ขาดมิตรก็ไม่ได้ คุณต้องมีเพื่อนที่ดี เราอยู่เฉพาะครอบครัวไม่ได้เราเป็นสัตว์สังคม เราต้องได้ทำงานที่เรารัก ไม่ใช่ฝืนใจทำงานและเราคิดว่าเรามีความสุขกับมัน ซึ่งแต่ละคนก็ต่างมีไม่เหมือนกัน แล้วที่สำคัญต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์ตามอัตภาพ ไม่จำเป็นต้องทำตัวเหมือนคนอื่น เราทำได้แค่ไหนเราทำแค่นั้น ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม แล้วก็ช่วยคนด้อยโอกาสที่อยู่รอบข้างเราอันนี้สำหรับคนทั่วไป เราไม่ใช่วีรบุรุษ เราไม่ใช่รัฐบุรุษ เสียสละทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ อดมคติ ยอมตายยอมทุกอย่าง อันนั้นคือมรณสักขีซึ่งมันคือคนละเรื่อง จะมีคนที่เป็นประเภทนั้นบ้างแต่ไม่ใช่คนทั่วไป ที่ผมพูดหมายถึงคนทั่วไป อยู่อย่างเป็นสุขและทำประโยชน์ได้บ้าง แค่นี้ก็น่าจะเป็นการเพียงพอ นี่เราพูดถึงไม่เอาแง่คิดของศาสนามานะ แต่ถ้าคนที่มีความสุขอย่างนี้แล้วยิ่งเขามาเป็นคาทอลิกด้วย ก็ยิ่งดีใหญ่ ยิ่งทำให้เขามีเป็นหมายในชีวิต ว่าการที่เขาดำรงชีวิตอยู่เนี่ย เพื่อไปพบพระในอนาคตเพราะฉะนั้นมันก็มีเป้าหมายที่สูง แต่ถ้าหากว่าเขาไม่ใช่คาทอลิกเขาก็มีความสุขของเขา
อุดมศานต์ : ตอนนี้อาจารย์มีครบหรือยังครับ ?
ดร.ธนู
: ผมคิดว่าผมมีนะ หลายคนถามผมว่าประสบความสำเร็จในชีวิตหรือยัง ผมก็บอกว่าความสำเร็จในชีวิต มันแล้วแต่ละคนที่เขาจะคิด ผมคิดของผมอย่างนี้ แล้วผมก็คิดว่าผมสำเร็จแล้ว ผมไม่ได้ฝันว่าผมจะต้องเป็นโน่นเป็นนี่ ผมดูองค์ประกอบของผม ก็คิดว่าผมมี แบบเดียวกับว่าเรามีแก้วน้ำแค่นี้(ทำมือ) แล้วถามว่า แก้วเต็มหรือยัง ผมบอกว่าเต็มแล้วของผมแก้วเล็ก แต่ถ้าคนเขามีแก้วใหญ่ เขาอาจจะยังไม่เต็ม เพราะว่าเขายังไม่พอใจในสิ่งที่เขามี แบบเดียวกับความรวย ถามว่ารวยหรือยัง? คนบางคนว่าร้อยล้านยังไม่รวยเลย บางคนบอกว่าล้านเดียวก็รวยแล้ว เพราะเขารู้จักคำว่าพอ เพราะฉะนั้นอันนี้มันเป็นสิ่งซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เอามาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา ถ้าคนรู้จักพอ ณ จุดที่เหมาะสมนี่ ก็จะสบายแล้ว มีความสุข แฮปปี้เพราะสิ่งเหล่านี้ตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้ มีเงินร้อยล้านพันล้านตายไปก็เอาไปได้ที่ไหน บางคนเป็นโรคเสียอีก สุขภาพก็ไม่ดีกินได้แต่ไข่เจียว มีเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน เรามีแค่พอประมาณเราก็มีชีวิตที่มีความสุขพอสมควร อย่าไปเบียดเบียนใครทำใจให้กว้าง เผื่อแผ่ แล้วโลกนี้ก็คือสวรรค์