บทสัมภาษณ์
 


        ".....เราต้องสร้างคนขึ้นมาให้คนสามารถไปอยู่ในสังคมโลกได้ โดยตระหนักและโชว์ความเป็นไทยให้ประจักษ์ เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาเอกชนจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ แล้วก็ทุกบาททุกสตางค์ที่เขาจ่ายลงไปเพื่อการศึกษา ต้องตักตวงให้คุ้มที่สุด ไม่ใช่ว่าอยากมาเรียนง่ายๆ จบง่ายๆ ได้ปริญญาใบหนึ่งก็พอ แต่สู้ใครไม่ได้ อย่างนั้นโง่! คนที่จ่ายเงินเพื่อได้ปริญญาโดยไม่มีความรู้ คือ คนโง่ เมื่อจ่ายเงินแล้วต้องตักตวงให้เต็มที่ จบออกไปจึงจะเป็นบัณฑิตที่มีเกียรติภูมิ มีคุณค่า และมีศักดิ์ศรีที่แท้จริง "

Q : สภาวะการศึกษาของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
A : โดยทั่วไปตอนนี้ประชาชนตื่นตัวมากในเรื่องการศึกษาหาความรู้ เพราะว่าตอนนี้โลกแคบลงทุกที ในแง่ของ การติดต่อสื่อสารระหว่างกัน มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้สื่อสารถึงกันได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างสมัยก่อนต้องส่งโทรเลข สมัยนี้โทรเลขก็ obsolete ไปแล้ว ล้าสมัยไปแล้วไม่มีใครใช้ ตอนนี้ก็เริ่มคืบคลานมาแล้วการส่ง e-mail เวลานี้ โทรศัพท์ระหว่างประเทศก็จะหมดความหมายไปแล้ว อย่างเมื่อเช้านี้ลูกผมอยู่ที่ Nebraska ผมต่อโทรศัพท์ จากคอมพิวเตอร์ ก็จะไปกริ๊งที่เครื่องของเขาเลย แล้วพูดฟรี ชัดเจน ไม่มี delay อะไรเลย จะพูดกี่ชั่วโมงก็ได้ เพราะฉะนั้นในอนาคตคนก็ไม่ต้องใช้โทรศัพท์แล้ว มันไปกันหมดแล้วการสื่อสาร เพราะฉะนั้นคนก็เริ่มเห็น ความสำคัญที่จะต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น ให้มีความรู้ ทั้งในด้านความรู้ทั่วไป ความรู้ทางด้านภาษา ทางเทคโนโลยีต่างๆ ความตื่นตัวมันมี
          สำหรับประเทศไทยก็มีการออก พ.ร.บ. การศึกษา มีคณะกรรมการการปฏิรูปซึ่งพยายามปรับปรุงการศึกษา ของไทยให้ดีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่พอใจ 100% แต่ก็ดีขึ้นกว่าเก่า รัฐธรรมนูญบอกว่าการศึกษาต้องฟรี 12 ปี ภาคบังคับต้อง 9 ปี เพราะฉะนั้นจะทำให้วงการการศึกษามีความกระตือรือร้นมากขึ้น แต่ว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ ขาดความพร้อมในทุกขั้นตอน ทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนตัวเพื่อจะรองรับเท่าที่ควร มีเฉพาะบางแห่งบางคนเท่านั้นที่ตื่นตัวรอรับกระแสความตื่นตัวที่จะใฝ่หาความรู้ของประชาชน อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วก็คิดว่าถ้าหากสถาบันและผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาไม่ตื่นตัวแล้ว ในอนาคตจะทำให้ประเทศชาติเสียหายมาก ในขณะที่คนพร้อมที่จะเรียน แต่ว่าหน่วยงานของรัฐบาล ของเอกชนและสถาบันการศึกษายังไม่มีความพร้อมเพียงพอ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว นี่คือภาพโดยรวมในภาวะปัจจุบัน

Q : แล้วถ้ามองระบบการศึกษาของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศบ้าง จะเป็นอย่างไร
A : มาตรฐานวัดยากเหมือนกัน อย่างที่เขามีการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในต่างประเทศและไทย จริงๆ แล้วมันมีส่วนที่ถูกบ้างแต่ไม่ใช่ถูกทั้งหมด เพราะว่าตัววัดมีปัจจัยหลายอย่างซึ่งวัดกันไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาจะต้องรู้ว่าสถาบันนี้มีเงินเท่าไร มีสัดส่วนอาจารย์ มีดีกรี มีค่าใช้จ่ายต่อหัวอะไรนี่แหละ แม้แต่ในประเทศเอง มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนยังต่างกันเลย อย่างรัฐนี่เขามีงบประมาณจัดให้หลายพันล้าน แล้วจำนวนนักศึกษา ก็มีจำนวนน้อย ได้รับความช่วยเหลือมาก ของเอกชนไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลย ต้องดูแลตัวเองหมด และยังสามารถผลิตบัณฑิตออกมา ซึ่งก็ไม่ได้ด้อยกว่าของมหาวิทยาลัยของรัฐ เราก็เห็นๆ กันอยู่ โดยที่งบประมาณ ไม่ได้ลงตรงนี้เลย อย่างนี้ไม่ใช่ตัววัด เขาไม่ได้เอาไปใส่ในตัววัด มันมีหลายอย่าง ผมก็ว่าระบบการศึกษาของไทย ไม่ได้อยู่ในระดับที่เลวจนเกินไปนะ สังเกตได้ว่านักศึกษาที่จบจากเรา มหาวิทยาลัยไทยว่างั้นเถอะ ในระดับปริญญาตรีก็สามารถไปเรียนต่อโทและเอกในสหรัฐอเมริกาได้ และประสบความสำเร็จก็มีเยอะ ไปเรียนกับเขาชนะเขาก็มีเยอะแยะ ไม่ได้ด้อยกว่าเขาเลย เพราะฉะนั้นถ้าดูผลผลิตแล้วก็พอจะสู้เขาได้หรอก สู้ได้พอสมควร แต่ไม่ได้ดีเลิศ แต่ก็ไม่ได้เลวเกินไปนัก ดังที่หลายคนเขาว่ากัน ต้องดูจากบัณฑิต ผลผลิตที่ออกไป ไปเมืองนอกไปได้ใช่ไหม ไปสู้เขาได้ใช่ไหม

Q : แล้วในเรื่องระบบการเรียนการสอนที่มีการพูดคุยกันว่าระบบการศึกษาไทยเราสอนให้จำ ไม่ได้สอนให้คิด
A : อันนั้นเป็นเรื่องจริง สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมของไทยตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มันเป็นส่วนหนึ่ง ของวัฒนธรรมไทยที่ว่าเด็กต้องเชื่อฟังเคารพผู้ใหญ่โดยไม่มีการเถียง เด็กที่ดีคือคนที่เงียบ เด็กที่ดี คือเด็กที่ยิ้มรับลูกเดียวใช่ไหม ไม่กล้าโต้แย้ง ไม่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้ใหญ่ อันนั้นเป็นวัฒนธรรมสืบทอดมา การแก้ไม่ได้ง่ายหรอก ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะบางทีครูให้เด็กไปค้นคว้าเด็กก็ไม่ชอบ ให้มา discuss กันก็ไม่ไหว มีโรงเรียนสาธิตซึ่งเขาได้เริ่มแก้ตั้งแต่เด็ก ก็เริ่มมีไอเดียต่างๆ เป็นเด็กพันธุ์ใหม่ มันต้อง ค่อยเป็นค่อยไป เพราะฉะนั้นจะมาแก้ในระดับปลายก็ลำบาก ต้องแก้มาตั้งแต่ระดับประถม อนุบาล ต้องแก้ความคิดซะ ผมว่าเด็กดีไม่ใช่เด็กที่เงียบและฟังอย่างเดียว เด็กดีก็คือเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ไม่ก้าวร้าว รู้จักที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเปลี่ยนตรงนั้นได้ มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนทั้งระบบ
          แต่ว่าในปัจจุบันครูเองก็เหมือนกัน ครูก็ได้รับการฝึกมาแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้นก็ใช้สไตล์เหมือนกัน ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนให้เป็นครูพันธุ์ใหม่ พันธุ์ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องมีการเปลี่ยนโดยผู้บริหารระดับประเทศ และผู้บริหารระดับสถาบันจะต้องเป็นตัวที่จะเปลี่ยน ที่จะต้องพยายามผลักดันแม้ว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้น ต้องเปลี่ยนตัวครูก่อน ให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง
          การสอนแบบบอกเล่ามันง่าย ครูบางคนมีตำราเล่มหนึ่ง ใช้จนเก่า ปกจะขาดอยู่แล้ว อยู่อย่างนั้นแหละ ทำไมไม่ไป xerox แจกเด็กก็หมดเรื่อง มาบอกให้จดเพื่อฆ่าเวลา มันเชยเต็มทีแล้ว มันต้องเปลี่ยนทัศนคติของครู ครูที่จะเป็นผู้ที่ไกด์โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ต้องเตรียมตัวมามาก ไม่ใช่ไม่ได้เตรียมเลย ครูต้องค้นคว้า เตรียมไว้ตอบเวลาเด็กมีข้อซักถาม ยิ่งหนักใหญ่ บางทีครูก็ขี้เกียจ ที่จะปรับ ที่จะเปลี่ยน เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยเวลาพอสมควร คนที่เป็นผู้นำจะต้องพยายามเปลี่ยนเขาให้ได้

Q : ที่อาจารย์บอกว่ามันสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรม อย่างนั้นมันก็คงเปลี่ยนยากอยู่เหมือนกัน
A : ต้องเปลี่ยนตั้งแต่เด็ก นานเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่ก็ต้องมีความหวัง แล้วก็ยุคโลกาภิวัตน์เนี่ย อะไรๆ มันเร็ว อย่างเมื่อก่อนไปอเมริกาข้ามน้ำข้ามทะเลเป็นวันๆ เดี๋ยวนี้ไปแป๊บเดียว ยิ่ง concord ยิ่งเร็วใหญ่ บางที เราคิดไม่ถึงหรอกว่าถ้าเราคิดแบบ conventional สมัยก่อนที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่หรอก อาจจะเร็วก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ นวัตกรรมใหม่ๆ มันมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนทัศนคติของคนมันอาจจะเร็ว ไปดู center point จะเห็นเด็กแต่งตัวเริ่ดน่าดู เดี๋ยวนี้ fashion ตามกันเร็วมาก

Q : ตรงนี้ทางมหาวิทยาลัยมีการปรับตัวเพื่อรับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างไรบ้าง
A : ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลานะ เพราะว่าสถาบันการศึกษาเอกชนถ้าไม่ตื่นตัว ไม่ปรับให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาแล้ว มันอยู่ไม่ได้หรอก ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างนี้ คนที่ไหนจะมาจ่ายสตางค์แพงๆ เพื่อมาเรียนของเก่าๆ ในสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพไม่สมกับเงิน เขาไม่มาหรอก ทำไมเขาไม่ไปสถาบันราชภัฏล่ะ ถูกจะตาย จบแล้วรับปริญญาบัตรจากราชวงศ์ ทำไมไม่ไปมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ไปมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชล่ะ เข้าได้ทุกคน ถูก รับปริญญาบัตรจากในหลวง จากราชวงศ์ มาทำไมมหาวิทยาลัยเอกชน 1. แพง 2. จบแล้วก็รับปริญญาบัตรจากอธิการบดี ไม่ได้อะไรซักอย่าง เพราะฉะนั้น เขาต้องดูแล้วว่ามาแล้วคุ้ม แล้วก็ไม่ใช่ว่า มาแล้วจบง่ายที่ไหน retire ก็เยอะแยะ เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นตัวพิสูจน์อยู่ได้ด้วยคุณภาพ อยู่ได้โดยการทำให้ผู้เรียน รู้ถึงคุณค่าที่เขามาเรียน

Q : จุดเด่นจุดเน้นของทางมหาวิทยาลัยอยู่ที่ตรงไหน
A : ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราคิดว่าเราสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้นักศึกษา สิ่งที่ดีที่สุดคือในทุกด้าน ทั้งในเชิงวิชาการ ทั้งเรื่องกิจการนักศึกษา กิจกรรมต่างๆ ทั้งสภาพแวดล้อม จะสังเกตได้ว่าสภาพแวดล้อมของเรา พยายามจัดแล้วให้คนเข้ามามีความร่มรื่น มาแล้วมีความสุข ไม่อยากออกไปไหน จะเห็นว่าตามตึกมีภาพเขียน ภาพศิลปะอะไรอย่างเนี่ย เป็นการโน้มน้าวจิตใจเขาทางอ้อม เป็นการกล่อมเกลาจิตใจ ไม่ใช่ว่ามาแล้วมุ่งเรียน อย่างเดียว เป็นหนอนหนังสือ ออกไปก็ประกอบธุรกิจขูดรีดชาวบ้าน ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องการสร้างคน ให้เป็นคนสมบูรณ์ ให้เขามีจิตใจที่อ่อนไหว รู้จักเห็นใจผู้อื่น คนที่รักศิลปะส่วนมากจะเป็นคนที่เห็นใจผู้อื่น มีความเอื้ออาทร อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น เราพยายามสร้างให้เขา
          ทางกิจการนักศึกษาก็มีชมรมต่างๆ มากมาย ชมรมทางด้าน Aiesec ชมรมทางด้าน Rotaract มีชมรมอาสาพัฒนา ชมรมกีฬา มีชมรมศิลปวัฒนธรรม ชมรมดนตรีขับร้อง มีชมรมสารพัดซึ่งสามารถที่จะ เข้าไปร่วม แล้วก็มีการรวมกลุ่มนักศึกษาทำงานร่วมกัน ทำงานบำเพ็ญประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยพยายามสร้างขึ้นมา
          มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการเป็นธุรกิจการศึกษา คุณสุรัตน์-อาจารย์ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น อนุสรณ์แห่งชีวิตของท่าน ต้องการตอบแทนบุญคุณสังคม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เราทำ เรากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุด แก่นักศึกษา ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่ทำไมถึงเก็บแพง ที่เก็บแพงเพราะรัฐบาล ไม่ได้ช่วยเลย การจัดการศึกษาไม่ใช่ถูก ถ้าจะเอาถูกๆ มันได้สิ่งที่ไม่ดี เราเก็บแพงพอสมควร ก็ต้องให้เขาคุ้ม ถ้าเขาไม่คุ้มเขาก็ไปที่อื่น

Q : ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นอย่างไรบ้าง
A : เราโชคดี เนื่องจากว่าเราทำทุกอย่างอย่างรอบคอบ เรามีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน หลายแห่งมีปัญหา ของเราไม่มีปัญหาเลย 3 ปีที่ผ่านมาเราโชคดี มันไม่ใช่แค่โชคอย่างเดียวมั้ง อาจจะเป็นเพราะว่า เรามีประวัติอันยาวนาน ซึ่งได้พิสูจน์ให้กับสังคมเห็นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีปัญหาแม้ว่าในช่วงเศรษฐกิจแย่

Q : ที่นี่มีเปิดอะไรบ้างในระดับบัณฑิตศึกษา
A : ปริญญาเอกที่นี่เปิดมาตั้งนานแล้ว ปริญญาเอกมี 2 สาขา นิเทศศาสตร์และบริหารธุรกิจ อันนี้เป็นโครงการ ร่วมกับต่างประเทศ ทางบริหารธุรกิจร่วมกับ University of Nebraska ทางนิเทศศาสตร์ร่วมกับ Ohio University เป็นการเรียนแบบปีหนึ่งเรียนที่กรุงเทพฯ โดยมีอาจารย์ของเราและมีอาจารย์ที่มาจากเมืองนอกด้วย ปีที่ 2 ไปเรียนกับเขา คือไปปนกับเด็กอเมริกันเลย ทุกอย่างไปปนกับเขา 1 ปีเต็ม สอบ defend proposal วิทยานิพนธ์ให้ผ่านแล้วปี 3 กลับมาเมืองไทย มาเขียนวิทยานิพนธ์ แล้วมี professor ตามมาดูแลด้วย
          สำหรับนิเทศศาสตร์เปิดมา 3 รุ่นแล้ว แล้วก็จบไป 2 รุ่นแล้วนะ ส่วนบริหารธุรกิจเพิ่งเปิดปีที่แล้ว เราเปิดทุก 3 ปี ปี 2001 จะเปิดรับนิเทศศาสตร์ เรียนจบแล้วได้ปริญญาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก.พ.รับรอง มีค่าเสมอปริญญาเอก ที่จบจากมหาวิทยาลัยของรัฐและต่างประเทศ อันนี้เป็นหลักสูตรซึ่งได้รับการรับรองจากทบวงมหาวิทยาลัย
          ปริญญาโทก็มี 2 สาขา มีทั้งโปรแกรมที่สอนเป็นภาษาไทยและโปรแกรมภาษาอังกฤษ แต่สำหรับปริญญาเอก มีโปรแกรมสอนเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว เราเน้นคุณภาพมาก เราไม่เปิดสะเปะสะปะ เราทำในสิ่งที่เรา มีความเชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเราแข็งทางด้านบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ โทก็มี 2 สาขานี้ เอกก็มี 2 สาขานี้

Q : ในขณะนี้ที่มีคนตกงานเยอะแยะ ทางมหาวิทยาลัยเตรียมนักศึกษาในการเข้าแข่งขันในตลาดงานอาชีพอย่างไร
A : เราช่วยนักศึกษาหลายด้าน อย่างก่อนจบก็มีจัดนัดพบแรงงาน เราพยายามติดต่อบริษัทต่างๆ ให้มารับบัณฑิตถึงที่ นอกนั้น เราก็มีฝ่ายกิจการนักศึกษา ศิษย์เก่าสัมพันธ์ เขาก็ส่งข่าวถึงบัณฑิตที่เพิ่งจบตลอดเวลา ว่าเวลานี้มีงานว่าง ที่ไหนไปติดต่อนะ แนะนำว่าต้องเตรียมตัวสัมภาษณ์อย่างไร ในงานปัจฉิมนิเทศเราก็มีการ train นักศึกษา เอานายจ้างต่างๆ มาฝึกหัดสอบสัมภาษณ์ และฝึกกรอกใบสมัคร เรามีการจัดการบรรยาย การสาธิตเกี่ยวกับอาชีพอิสระต่างๆ คือไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกจ้างใคร เราพยายามเอาตัวอย่างต่างๆ มาให้นักศึกษาได้เห็น เรามีบริษัทจำลอง Rejoice ซึ่งเป็นบริษัทฝึกงานของนักศึกษา ตอนช่วง summer เขาก็ทำงานจริงๆ จังๆ ได้กำไรปีหนึ่งหลายล้าน อันนี้ก็เป็นการ train เขา ให้เขารู้จักการติดต่องาน ให้ได้เห็นลู่ทางในการประกอบธุรกิจ ซึ่งช่วยมาก เพราะฉะนั้นบัณฑิตของเราก็ได้งานกันพอสมควรทีเดียว แล้วในขณะเดียวกันใครที่ยังไม่มีงาน ก็ให้มาติดต่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็จะช่วย

Q : แล้วในเรื่องของภาษาต่างประเทศ คอมพิวเตอร์...
A : คอมพิวเตอร์เราเน้นมาก มหาวิทยาลัยมีตั้ง 2,000 กว่าเครื่อง แล้วนักศึกษาทุกคนก็มี e-mail address การติดต่อกับนักศึกษาตอนนี้ประกาศผลสอบผ่านทางคอมพิวเตอร์ อะไรต่างๆ จะพยายามสื่อทางคอมพิวเตอร์ หมดเลย เรา upgrade คอมพิวเตอร์ของเรามาหลายครั้ง ตอนนี้ลงทุนไปหลายสิบล้าน ขยายขึ้นมาแทนที่จะเป็น 1 Mbps. ก็เป็น 4 Mbps. ติดต่ออะไรต่างๆ ได้สบาย เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นหัวใจทีเดียว
          อาจารย์ก็เหมือนกัน เวลานี้อาจารย์ระดับหัวหน้าภาคขึ้นไปทุกคนมีคอมพิวเตอร์ประจำห้อง ประจำตัวเลย แล้วผมก็ให้นโยบายบอกว่า อาจารย์คนอื่นก็จะให้ด้วย แต่ว่าต้องเข้า course ที่กำหนด คือไม่ใช่ให้คอมพิวเตอร์ ไปประดับโต๊ะ แต่ว่าเอาไปแล้วต้องใช้ การใช้ไม่ใช่แค่อ่าน e-mail การใช้หมายความว่า ต้องไปใช้ในการเรียนการสอนด้วย เพราะฉะนั้นผมจะบังคับให้เขาต้องผ่าน course 40 กว่าชั่วโมง ในการสร้าง Home Page ของตัวเอง ในการจะสื่อสารกับเด็ก ในการที่จะไปหา Search Engine อะไรต่างๆ เขาต้องเป็นหมด ถ้าสอบผ่าน เอาไปเลยประจำโต๊ะ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เรากระตุ้นทางอ้อม เพราะเราต้องให้อาจารย์ก่อน เพราะเราต้องการเปลี่ยนครูอาจารย์ก่อน ถ้าเราไม่เปลี่ยนครูอาจารย์นี่ ใช้วิธีเดิมเด็กก็ไม่ไปไหน แต่ถ้าหากว่าตัวอาจารย์เปลี่ยน พยายามใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ในอนาคตเด็กก็ไปด้วย แล้วยิ่งเด็กสมัยใหม่ในเวลานี้ ประถม มัธยมเขาตื่นตัวกันมาก ลูกชายผมอยู่ ม.3 เก่งคอมพิวเตอร์มาก เขาสามารถสร้าง Home Page ของเขาเอง พอมาถึงมหาวิทยาลัยมาเจออาจารย์งี่เง่าก็เสร็จเลย เพราะฉะนั้นเราต้องผลักดัน เปลี่ยนอาจารย์ให้ได้ เวลานี้ต้องทำงานหนักเพื่อเตรียมตัวอาจารย์

Q : เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยของรัฐกับเอกชนในเรื่องของการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียนการสอน และคุณภาพ
A : คือของรัฐเขามีเพียบ เพราะเขาใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีที่ประชาชนจ่าย ถึงเวลาซื้อตูม ซื้อร้อย ซื้อพัน ซื้อเพียบ อุปกรณ์มีเพียบ แต่มันอยู่ที่ว่าจะใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าอย่างไร เพราะบางทีของรัฐมีแต่ไม่ได้ใช้ ของเอกชนนี่ ใช้ประโยชน์เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่นห้องเรียนของเราใช้ตั้ง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์หมุนเวียนตลอดเวลา จัดคิวว่า ห้องนี้ว่างปุ๊บอีกกลุ่มก็เข้าเรียนต่อ ของรัฐไปดูซิเหลือบานเบอะ ไม่เกิดประโยชน์เพราะเขาไม่เห็นคุณค่าของ cost เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของเอกชนจะมีมาก และทำให้ต้นทุนถูกกว่ามากเลย เพราะฉะนั้น ทำให้เราสามารถผลิตบัณฑิตต่อหัวถูกกว่าของรัฐ แต่ที่เก็บแพงกว่า เพราะของรัฐได้งบประมาณเงินของชาวบ้าน

Q : ในเรื่องการเรียนการสอนเป็นอย่างไรบ้าง
A : อันนี้เปรียบเทียบยาก ก็คิดว่าอาจารย์ทุกคนก็คงพยายามอย่างดีในการจะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ให้แก่นักศึกษา ต้องดูผลคือบัณฑิต ไปดูว่าบัณฑิตจากที่ไหนมีมากน้อยและมีคุณธรรมแค่ไหน ต้องไปดูกันตรงนั้น

Q : เรื่องของการให้ความสำคัญกับการวิจัยของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
A : การวิจัยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นการหาความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็พยายามกระตุ้นมาก นี่เพิ่งมีการปรับปรุงระเบียบการให้ทุนการวิจัย เพิ่งปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อดึงดูดให้อาจารย์ได้มาวิจัยมากขึ้นๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร ของรัฐเขามีมานานแล้ว เพราะเขามีเวลาว่างเยอะ ของเราก็กำลังอยู่ใน trend ที่กำลังไปดีนะ แต่ต้องพยายามมากขึ้นอีก

Q: แล้วในเรื่องการพัฒนาบุคลากร
A : เราเด่นมากในเรื่องการพัฒนาบุคลากร เพราะว่าตั้งแต่ต้นมาแล้ว 39 ปี ได้มีการให้ทุนทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเป็น sponsor ให้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาเลย กลับมามากเลย อันนี้ต้องถือเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ทุกคนนับจากตัวผม นับตั้งแต่อดีตอธิการบดี อาจารย์เจริญ รับทุนจากที่นี่ทั้งนั้น รองอธิการบดีทุกคน ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีเกือบทุกคน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์สร้างขึ้นมาทั้งนั้น แล้วทุกปีมีการให้ทุนกับเด็กที่เรียนเก่ง คัดมาเลยว่า แนวโน้มคนนี้เป็นยังไง ปี 3-4 ทางฝ่ายวิชาการจะเรียกมาคุย มาดูว่าเขามีทัศนคติดีไหม ไม่ใช่เก่งอย่างเดียวไม่เอา เก่งแล้วต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นครูด้วย คือมีจิตใจดี อยากช่วยเหลือผู้อื่น อันนี้สำคัญมาก
          อาจารย์ประจำของเราเองก็เหมือนกัน ใครมีความสามารถสอบ TOEFL ได้ 550 ขึ้นไปก็ให้ไปเมืองนอก ให้ไปเรียนต่อ เราก็กลัวว่าทำแค่นี้มันก็วนอยู่ในอ่าง จบมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็อยู่นี่ วนอยู่ในอ่างไม่เอา เราจึงประกาศ ให้ทุนคนภายนอกด้วย ใครก็ได้เดินเข้ามาเลยมาแข่งขัน แล้วเอามาผสม แล้วส่งไปเมืองนอก ปีหนึ่งหลายสิบคนทุกปี มีอาจารย์ที่ได้ทุนอยู่เมืองนอก 20 กว่าทุน มีทุกเวลา คนหนึ่งกลับคนหนึ่งไป กลับมากลับไปตลอดเวลา

Q : ถ้าพูดถึงการประกันคุณภาพทางการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยมีการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา อย่างไรบ้าง
A : มีการประกัน 2 ทาง ตัวทบวงฯเองก็คุมอยู่ ทบวงฯเองมีมาตรการมากมายที่จะดูแลมากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยของรัฐแทบจะไม่ได้มีการดูแลควบคุมเลยโดยทบวงฯ แต่ของเรานี่คุมดิกเลยตั้งแต่ต้น ตั้งแต่หลักสูตร มาตรวจสอบการเรียนการสอน การออกข้อสอบ การให้คะแนนสารพัดเลย อันนั้นชั้นนึง แต่ตัวเราเอง เราก็ดูของเราเองด้วย เราไม่พอใจแค่มาตรการที่ทบวงฯตรวจสอบ ยิ่งเป็นเอกชนคุณภาพสำคัญที่สุด เพราะว่าคนมันหลอกกันได้ไม่นาน ถ้าสมมติบอกว่าของฉันดี รุ่น1 รุ่น 2 คนอาจเชื่อ พอถึงรุ่นที่ 3 รุ่นที่ 4 รุ่นที่ 8 คนก็จะรู้แล้วว่าจบสถาบันนี้เป็นยังไง เขาพูดกัน เราก็รู้ว่าจบจากไหนมันไม่เท่ากันน่ะ เราอยู่บนโลกของความเป็นจริง เรารู้ เพราะฉะนั้นคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ
          สถาบันการศึกษาเอกชนจะอยู่ได้อยู่ไม่ได้อยู่ที่คุณภาพในระยะยาว เวลานี้ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ สถาบันที่มีคุณภาพเท่านั้นถึงจะอยู่ได้ หลายแห่งมีปัญหา เพราะฉะนั้น คุณภาพไม่ต้องห่วงเลย เราดูแลมากเลย เราดูตั้งแต่ยกตัวอย่างเช่น การคัดเลือกอาจารย์ หลายแห่งระบบเส้นสายก็มี ของเรากัน กันยังไง สมมติว่าเราจะรับอาจารย์ 3 คนในคณะบริหารธุรกิจ มีมาสมัคร 20 คน ทางคณะเขาต้องตั้ง กรรมการ มีคณบดี มีฝ่ายบุคลากรมาร่วมด้วย เขาต้องการ 3 ตำแหน่ง ต้องคัดมา 6 คน 2 เท่า แล้วก็มาให้ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการคัดให้เหลือ 3 คน คือกันกันทางอ้อม เส้นรองอธิการบดีก็ยังไม่ได้ เส้นนี้ก็ไม่ได้ เอาคนที่ดีที่สุด
          นอกจากนั้น ในการคัดเลือกผู้มาสอนเช่น อาจารย์พิเศษ เราไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ ทางคณะเขาต้องเตรียมตัวเลือก และนำเข้าที่ประชุมวิชาการซึ่งมีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธาน แล้วมีคณบดีทุกคณะมาช่วยกันพิจารณา ใช้วิธีการระดมสมองระดมความคิด แอบๆ มาใส่ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น แล้วเวลาตรวจสอบคะแนนก็มีกรรมการภายในพิจารณาอีก มีระบบเยอะ

Q : ในเรื่องการกำหนดมาตรฐาน ISO อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร
A : ISO ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะเสริม ถ้าจะถามว่าควรไหมที่จะเข้าสู่ระบบ ISO ก็บอกว่าควร เพราะอย่างน้อย มันมีเกณฑ์ที่ไม่สะเปะสะปะ อย่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพก็ทำ ISO 14001 ในอนาคตก็จะทำ ISO 9001, 9002 ก็ค่อยๆ ทำ แต่ว่าอันนี้มันมี paper work เยอะ มันก็ไม่ได้มีอะไร ก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เอามาลงใน paper มันก็ดีสำหรับในอนาคตมัน refer กันได้พอสมควร

Q : ในมุมมองของอาจารย์คิดว่ามันเป็นเรื่องของโฆษณาด้วยหรือเปล่า
A : ไม่ใช่ มันเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการช่วย แต่มันไม่ใช่ ultimate มันไม่ใช่สิ่งที่จะชี้ชัดว่ามีคุณภาพ อย่างนั้นจริงหรือไม่ มันอยู่ที่การกระทำต่างหาก อันนั้นคือ paper มันอยู่ที่จิตวิญญาณของผู้บริหารและคณาจารย์ อันนั้นสำคัญกว่า ซึ่งอันนี้มันต้องดูผลผลิต ดูตรงนี้ไม่ได้หรอก จะโม้ยังไงก็ได้ ที่สำคัญต้องดูผลผลิตว่า บัณฑิตที่ออกมามีคุณภาพไหม เป็นที่ยอมรับไหม อันนั้นคือตัวตัดสิน

Q : มหาวิทยาลัยกรุงเทพมีคณะวิชาอะไรที่เด่นบ้าง
A : เด่นมันแล้วแต่แง่มุม ที่เขาฮือฮากันมากก็นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นที่สอง แล้วตั้งมานานมาก ผลิตบัณฑิตไปเยอะมาก ผลิตมากกว่าจุฬาฯ หลายเท่า แล้วก็อยู่ในวงการคุมหมดแล้วในเวลานี้ ก็ฮือฮามากในวงการนิเทศศาสตร์ ถ้านิเทศฯ ต้อง ม.กรุงเทพ แล้วเราก็พยายามที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นตลอดไป ไม่ให้ใครมาช่วงชิงได้ ตอนนี้เรากำลังสร้างหอสมุดใหญ่ กำลังดำเนินการอยู่ แล้วกำลังจะสร้าง studio เป็น Lab ของคณะนิเทศฯ กำลังออกแบบอยู่ ลงทุนเยอะ

Q : นิเทศศาสตร์เปิดหลักสูตร Inter ตั้งแต่ปริญญาตรีใช่ไหม
A : ตอนนี้หลักสูตร Inter มีอยู่ 4 มีนิเทศศาสตร์มีประชาสัมพันธ์ บริหารธุรกิจมีการตลาด มนุษยศาสตร์ มี Business English และ Hotel and Tourism Management เราเรียกว่า Bangkok University International College แล้วก็มีโปรแกรมภาษาไทยอีก 9 คณะ

Q : มีการจัด ranking ของมหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยของเอกชนกับของรัฐบาลไหม
A : มีคนพยายามทำ TRIS พยายามทำ ขอมาเป็น Volunteer เราก็ยอมเป็น Volunteer จะทำก็ไม่ว่าอะไร ตอนหลังตลาดหลักทรัพย์ไม่ให้ TRIS ทำ ก็ยกเลิกไป ตอนนี้ก็มีหน่วยงานหนึ่งพยายามจัดทำเรื่องการศึกษา Education มหาวิทยาลัยของรัฐเท่านั้นที่ทำ แต่ว่าคนทำเองยังงงๆ อยู่ ในอนาคตอันใกล้คงยาก มีคนพยายามอยู่ แต่ไม่ใช่ง่ายๆ หรอก ผมว่าการจัดอันดับการศึกษานี่เป็นรูปแบบหนึ่งที่จะพยายามที่จะดูคุณภาพ แต่ตัวที่สำคัญที่สุด ต้องดูตัวบัณฑิต แค่นั้นแหละตัว prove เลย บัณฑิตที่นี่เป็นยังไง ประสบความสำเร็จยังไง เป็นที่ยอมรับไหม ไปเมืองนอกได้ยังไง จบไหม แค่นั้นแหละ คือต้องดูผลอย่าไปดู process ผลสำคัญที่สุด

Q : มองในอีกด้านคือด้านของปัญหาในการจัดการศึกษา ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรบ้าง
A : ปัญหามันอยู่ที่คน มีเงินจะสร้างมหาวิทยาลัยเมื่อไรก็ได้ อย่างคุณทักษิณเขาก็สร้างขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชินวัตร มีเงินเขาก็สร้างได้ แต่ที่สำคัญไปรอดไม่รอดอยู่ที่ผู้บริหาร คณาจารย์ และ สภาพแวดล้อม

     1. ผู้บริหารนี่สำคัญ ต้องมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร ต้องมีอุดมการณ์ในการศึกษา มองเห็นชัดเจนว่า มาบริหารมหาวิทยาลัยไม่ใช่ธุรกิจการค้า มาเพื่ออะไร
     2. คณาจารย์สำคัญที่สุด เพราะว่ามหาวิทยาลัยจะดังไม่ดัง ดีไม่ดี อยู่ที่คณาจารย์ อันนี้ต้องสร้าง บางคนเข้าใจผิดคิดว่าไปจับช้างเผือกมา ไอ้นี่เด่นเอามา ไอ้นี่ดังเอามา เราประมูลมาวันนี้ พรุ่งนี้มีคนประมูลอีกเขาก็ไป ขาด Loyalty ขาดความทุ่มเท เพราะฉะนั้นอันนี้มหาวิทยากรุงเทพตระหนักดีมาก เราสร้างคนของเราขึ้นมาตลอด จะสังเกตเลยว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ grow from within

     ผมเองเป็นอาจารย์ธรรมดาเมื่อก่อนนี้ ผมเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพด้วย รุ่นที่ 5 ผมไม่รู้จักใครสักคนก็เข้ามา เข้ามาเหมือนนักศึกษาคนหนึ่งธรรมดา เสร็จแล้วก็มาเป็นอาจารย์ มาเป็นคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มาเป็นอธิการบดี เป็นได้ ทุกคนเป็นได้ ผมก็รับทุนทั้งโททั้งเอกจากที่นี่ แล้วคนอื่นก็เช่นเดียวกัน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันหมด เราสร้างคนของเราขึ้นมาเอง ไม่มีที่จะเห็นว่าไปเอาคนโน้นมาเป็นคณบดี เอาคนนั้นมาไม่มี เพราะฉะนั้นเราตระหนักถึงคุณภาพอาจารย์ และอาจารย์ที่จะทุ่มเทมากที่สุดก็คืออาจารย์ซึ่งมีความเข้าใจ มีความรัก มี Loyalty ต่อสถาบัน อันนี้ทุ่มเท แล้วเรามีคนอย่างนี้เยอะ ที่นี่ team work ดี

     3. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศ อุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องเรียนของเราทำให้นักศึกษามาแล้วอยากอยู่ ไม่หนีเที่ยว ไม่ไปโน่นไปนี่ ว่างเข้าห้องสมุด ตอนนี้กำลังสร้างห้องสมุดหลายร้อยล้านที่รังสิต เป็นตึกเอกเทศ เราพยายามทำให้ทันสมัยที่สุด มี Cyber Center มี Cyber Café มีการค้นคว้าข้อมูล Electronic และมีอะไรทุกอย่าง

Q : นักเรียนของที่นี่ ถ้ามองถึงปัญหาไม่ทราบมีปัญหาอะไรบ้าง
A : ปัญหาจะเกิดถ้าหากนักศึกษาไม่มีความเข้าใจในตัวสถาบัน เพราะฉะนั้น เรามีหน่วยงาน ที่สังกัดสายกิจการนักศึกษา มีฝ่ายแนะแนว ฝ่ายพัฒนาบุคลิกภาพนักศึกษา มีอะไรต่างๆ เขาดูแลนักศึกษา ใกล้ชิดนักศึกษา สโมสรนักศึกษากับคณาจารย์ใกล้ชิดกันมาก มีอะไรก็ปรึกษากัน เราไม่เคยมีปัญหา เพราะฉะนั้นก่อนที่จะมีปัญหาเรากระโดดไปหาเขาก่อน ยกตัวอย่างเวลานี้มีชุมนุมม็อบหน้าทำเนียบ มีสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาออกไปร่วมโรง เราก็คุยกับนักศึกษาของเราว่ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็ให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างนี้นะ อย่าไปหลงลม ใครมาชวนก็หลงเชื่อ เราอธิบายว่า ผู้ที่เข้าไปไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริงของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษา เพราะมันไม่มี สมาพันธ์มันแตกไปแล้ว ยังไม่ได้รวมตัวกันเลย แล้วเขามาอ้างชื่อว่าเป็นสมาพันธ์ได้อย่างไร ถ้าใครไม่รู้ก็โดดลงไป เราให้ความรู้กับนักศึกษาแต่เราไม่ไป dominate เขา เวลาเขามีปัญหาเขาก็มาปรึกษา นี่คือบรรยากาศที่มหาวิทยาลัย คณาจารย์และนักศึกษามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันตลอดเวลา

Q : อาจารย์มีข้อแนะนำอะไรบ้างที่จะฝากถึงนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
A : ประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองสู้ต่างประเทศได้หรือไม่ รวมทั้งความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งมวล มันอยู่ที่คุณภาพของคน คนที่มีโอกาสมาเรียนในระดับอุดมศึกษาถือว่าโชคดี เพราะถือว่า เป็นส่วนเดียวส่วนน้อยๆ ของประชากรทั้งหลาย คนมากมายไม่มีกำลัง ไม่มีปัญญา ไม่มีโอกาสที่จะมาเรียน ในระดับอุดมศึกษา เพราะฉะนั้น ใครเข้ามาแล้วอย่าปล่อยให้โอกาสมันหายไป อย่าเป็นอันขาด ต้องคำนึงถึงว่าเรา…คนที่เรียนในมหาวิทยาลัย ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน มหาวิทยาลัยปิดหรือมหาวิทยาลัยเปิด จะต้องเป็นผู้นำของประเทศในอนาคต ไม่ใช่ชาวนาซึ่งขาดการศึกษา ซึ่งเป็นผู้สนับสนุน แต่ผู้นำคือผู้ที่มีความรู้ในระดับอุดมศึกษา เพราะฉะนั้นจะต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนให้มากที่สุด
          ในอนาคตภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของโลก ไม่ใช่ของชาวอังกฤษ เทคโนโลยีก็สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องรักษาความเป็นไทยไว้ให้ได้ อันนี้คือที่ผมกลัวมากที่สุด คือเวลาไปสากลแล้ว ลืมความเป็นไทย มันจะต้องคู่กัน 50:50 ความเป็นไทยจะต้องยั่งยืน เราต้องภูมิใจในความเป็นไทยในดินแดนสากล อันนั้นสำคัญที่สุด เราต้องสร้างคนขึ้นมา ให้คนสามารถไปอยู่ในสังคมโลกได้ โดยตระหนักและโชว์ความเป็นไทย ให้ประจักษ์ เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในสถาบันการศึกษาเอกชนจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ แล้วก็ทุกบาททุกสตางค์ ที่เขาจ่ายลงไปเพื่อการศึกษา ต้องตักตวงให้คุ้มที่สุด ไม่ใช่ว่าอยากมาเรียนง่ายๆ จบง่ายๆ ได้ปริญญาใบหนึ่งก็พอ แต่สู้ใครไม่ได้ อย่างนั้นโง่! คนที่จ่ายเงินเพื่อได้ปริญญาโดยไม่มีความรู้ คือ คนโง่ เมื่อจ่ายเงินแล้ว ต้องตักตวงให้เต็มที่ จบออกไปจึงจะเป็นบัณฑิตที่มีเกียรติภูมิ มีคุณค่า และมีศักดิ์ศรีที่แท้จริง